7.หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินโครงการ

7. หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินโครงการ

7.1 ความหมายของการประเมินโครงการ

สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ (2524 : 1) ได้ให้ความหมายของการประเมินโครงการไว้ว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศสำหรับการตัดสินคุณค่าของโครงการ ผลิตผลกระบวนการจุดมุ่งหมายของโครงการ หรือทางเลือกต่าง ๆ เพื่อนำไปปฏิบัติให้บรรลุจุดมุ่งหมายจุดเน้นของการประเมิน คือ การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อสนเทศ เพื่อตัดสินคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ

นิศา  ชูโด (2538 : 9) กล่าวสรุปถึงความหมายของการประเมินโครงการว่า หมายถึง กิจกรรมการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ความหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการและหาผลที่แน่ใจว่าเกิดจากโครงการ  เพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการให้ดียิ่งขึ้น

ประชุม  รอดประเสริฐ (2539:73) ได้กล่าวถึงการประเมินโครงการ หมายถึง กระบวนการในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของการดำเนินโครงการ และพิจารณาตัวบ่งชี้ให้ทราบถึงจุดเด่นหรือจุดด้อยของโครงการนั้นอย่างมีระบบแล้วตัดสินใจว่าจะปรับปรุงแก้ไขโครงการนั้นเพื่อการดำเนินการต่อไป หรือยุติการดำเนินงานโครงการนั้นเสีย

สุวิมล  ติรกานันท์ (2543 : 1-2) ได้กล่าวถึงการประเมินโครงการว่าเป็นการบรรยาย เก็บรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับเป้าหมาย การวางแผน การดำเนินการและผลกระทบ  เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อส่งเสริม ให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ของโครงการและได้ให้ความหมายของการประเมินว่า เป็นการกำหนดคุณค่าหรือข้อดีบางสิ่งบางอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน เพื่อให้ได้สารสนเทศที่สามารถใช้ใน การพิจารณาการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างทันท่วงที ในทางตรงกันข้ามผลการ

จากความหมายของการประเมินโครงการดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้ว่า การประเมินโครงการเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับโครงการใดโครงการหนึ่ง โดยมีการรวบรวมข้อมูลและวิธีการศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติงานกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

7.2 ความมุ่งหมายของการประเมินโครงการ

ประชุม  รอดประเสริฐ (2539 : 74-75) ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายการประเมินโครงการว่าการประเมินโครงการมีความมุ่งหมาย 3 ประการ

1.  เพื่อแสดงผลการพิจารณาถึงคุณค่าของโครงการ

2.  เพื่อช่วยให้ผู้ตัดสินใจมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง

3.  เพื่อการบริการข้อมูลแก่ฝ่ายการเมือง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและการประเมินโครงการมีความมุ่งหมายเฉพาะ ดังต่อไปนี้

3.1 เพื่อแสดงถึงเหตุผลที่ชัดเจนของโครงการอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินใจว่าลักษณะใดของโครงการมีความสำคัญมากที่สุดซึ่งจะต้องทำการประเมินเพื่อหาประสิทธิภาพและข้อมูลชนิดใดที่จะต้องเก็บรวบรวมไว้เพื่อการวิเคราะห์

3.2 เพื่อรวบรวมหลักฐานความเป็นจริง และข้อมูลที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การพิจารณาถึงประสิทธิผลของโครงการ

3.3 เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อการนำไปสู่การสรุปผลของโครงการ

3.4 การตัดสินใจว่าข้อมูล หรือข้อเท็จจริงใดที่สามารถนำไปใช้ได้

สำราญ  มีแจ้ง (2543: 8-9) กล่าวว่าการประเมินโครงการทางการศึกษามีความสำคัญดังต่อไปนี้

1.  ช่วยชี้ให้เห็นว่าจุดประสงค์ของการดำเนินงานนั้นเหมาะสมและเป็นไปได้
2.  ทำให้ทราบว่าการดำเนินงานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
3.  กระตุ้นให้มีการเร่งรัดปรับปรุงการดำเนินงาน

4.  ช่วยให้มองเห็นข้อบกพร่องในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการดำเนินงาน

5.  ช่วยควบคุมการดำเนินงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการลดความสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากร

6.  ช่วยให้ข้อสนเทศแก่ผู้บริการในด้านการดำเนินงาน

7.  ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสมในครั้งต่อๆ ไป

สรุปได้ว่าการประเมินโครงการมีความมุ่งหมายเพื่อแสดงผลการพิจารณาถึงคุณค่าของโครงการ ด้วยการนำข้อมูลไปวิเคราะห์หาประสิทธิผลเพื่อช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจนำไปใช้ได้ โดยคำนึงถึงความสำคัญของโครงการว่ามีความเหมาะสมเพียงใด  บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่  เพราะผลการประเมินจะเป็นตัวกระตุ้นให้การดำเนินงานมีข้อบกพร่องน้อยลง ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในการทำงานของแต่ละโครงการ

 

7.3  ประโยชน์ของการประเมินโครงการ

จากความมุ่งหมายและความสำคัญดังกล่าวแล้ว พอสรุปได้ว่าการประเมินโครงการมีประโยชน์ในการกำหนดวัตถุประสงค์ และมาตรฐานของการดำเนินงานมีความชัดเจนทำให้องค์กรได้รับประโยชน์เต็มที่ ทำให้แผนงานบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะโครงการเป็นส่วนหนึ่งของแผน ดังนั้นเมื่อโครงการได้รับการตรวจสอบวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ดำเนินการไปด้วยดีช่วยการแก้ปัญหาอันเกิดจากผลกระทบ (impact) ของโครงการ และทำให้โครงการมีข้อที่ทำให้ความเสียหายน้อยลงทำให้การควบคุมคุณภาพของงาน เพราะการประเมินโครงการเป็นการตรวจและควบคุมชนิดหนึ่ง ช่วยในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานตามโครงการ ทำให้การวางแผนหรือการกำหนดนโยบายของผู้บริหารและฝ่ายการเมืองเป็นสารสนเทศช่วยการตัดสินใจในการบริหารโครงการ

7.4  การจัดกลุ่มรูปแบบการประเมินโครงการ

การประเมินสามารถจัดเป็นกลุ่มโดยจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการประเมินออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ (เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี, 2542: 63-64 )

1) กลุ่มรูปแบบการประเมินเพื่อการตัดสินใจ (decision oriented  evaluation) นักประเมินกลุ่มนี้มีความเชื่อในการประเมินที่เป็นระบบ โดยมีขั้นตอนการประเมินที่ครบวงจรซึ่งให้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมนักประเมินกลุ่มนี้ ได้แก่ ครอนบาค (Cronbach , 1963)  สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam , 1990)  อัลคิล  (Alkin , 1969)  โปรวัส (Provus , 1971)  รวมทั้งรูปแบบ  CSE  (Center  for  the  Study  of  Evaluation)  ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอนเจลิส  (UCLA)  ด้วย  นักทฤษฎีการประเมินยุคใหม่  ได้ให้ความสนใจต่อรูปแบบของกลุ่มนี้มาก เพราะสามารถนำผลการประเมินไปใช้ในการตัดสินใจสำหรับการบริหารงานได้เป็นอย่างดี

2) กลุ่มรูปแบบการประเมินเพื่อการตัดสินคุณค่า (value oriented  evaluation)  นักประเมินกลุ่มนี้เห็นว่า การประเมินเป็นการให้คุณค่าหรือตีราคาสิ่งที่ถูกประเมิน การประเมินในลักษณะนี้ในยุคแรก ๆ มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และขาดความเชื่อถือ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรูปแบบการประเมินในกลุ่มนี้ได้มีผู้นิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเพื่อบริการสังคม หรือโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล  ซึ่งมักจะมีความซับซ้อน  จึงต้องอาศัยวิธีการประเมินทั้งแบบมีระบบและแบบวิธีการธรรมชาติ  (naturalistic approach) ควบคู่กันไปโดยให้ความสำคัญกับผลผลิตที่เกิดจากโครงการทั้งหมด แม้จะเป็นผลกระทบก็ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจคุณค่าเช่นกัน นักทฤษฎีประเมินที่มีความเชื่อตามแนวความคิดนี้  ได้แก่  สครีเวน (Scriven , 1967) กลาส (Glass , 1969) เวอร์เธนและแซนเตอร์ (Wcrthen $ Sandres , 1973)  สเตก (Stake , 1974)  ไอสเนอร์ (Eisner , 1979)  เฮาวส์ (House , 1980)  กูบาและลินคอล์น (Guba & Lincoin , 1981 ) เป็นต้น

8. การประเมินโครงการทดลองนำร่องจัดตั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้รูปแบบซีโป (CPO)

8.1 แนวคิดและรูปแบบของแบบจำลองการประเมิน  ซีโป CPO

การประเมินโครงการ  เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูล  และสารสนเทศที่จำเป็นอันจะนำไปสู่การตัดสินความสำเร็จ  รวมทั้งแก้ไขปรับปรุง พัฒนา  ตลอดจนการสร้าง  และการกำหนดทางเลือกใหม่ในการดำเนินโครงการ  ดังนั้น  กิจกรรมการประเมินโครงการ  จึงเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศที่จำเป็น  เกี่ยวกับปัจจัยขั้นพื้นฐานของโครงการ  ตลอดจนกระบวนการที่ปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ  และผลผลิตของโครงการ  ภายใต้กิจกรรมและช่วยเวลาที่ได้กำหนดหรือวางแผนไว้  เยาวดี  รางชัยกุล  วิบูลย์ศรี  (2542 : 301-319)  ได้พัฒนาเป็นรูปแบบหรือแบบจำลองของการประเมินโครงการขึ้น  ซึ่งแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

แบบจำลอง

ภาพที่ 2 แบบจำลองการประเมิน “ซีโป   (CPO)  ” (CPO’S  evaluation model)

สัญลักษณ์ที่ใช้ในภาพ  13  มีดังนี้

1…………………     หมายถึง  เส้นแบ่งระหว่างองค์ประกอบ ซึ่งแยกกันไม่เด็ดขาด

2.                  หมายถึง  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละองค์ประกอบในลักษณะของการสื่อสารแบบสองทางอย่างครบวงจร

3. C  หมายถึง  ปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม (context)

4. P   หมายถึง  กระบวนการปฎิบัติระหว่างดำเนินโครงการ  (process)

5. O  หมายถึง  ผลผลิตของโครงการ (outcome)

 

จากแบบจำลองข้างต้นจะเห็นได้ว่า  การประเมินโครงการตามแนวคิดของเยาวดี  รางชัยกุล  วิบูลย์ศรี  ประกอบด้วยส่วนสำคัญ  3  ส่วนใหญ่ ๆ  ที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องตามลำดับ  คือ  1) ปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ (context)  2)  กระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ (process)  แล  3) ผลผลิตของโครงการ (outcome) เพื่อให้มีความเข้าใจง่ายขึ้นจะขอกล่าวถึงองค์ประกอบแต่ละส่วนพอสังเขปดังต่อไปนี้

  1. ปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ (Context) หมายถึง  “บริบท”  ต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทั้งปวง  เช่น  ปัจจัยทางทหาร  ทางการเมือง  ทางเศรษฐกิจ  ทางสังคม  ทางวัฒนธรรม  รวมทั้งปัจจัยทางกายภาพ  และทางด้านจิตใจ  เป็นต้น  การประเมินในส่วนนี้เป็นการประเมินสภาวะแวดล้อมหรือ  “บริบท”  ต่าง ๆ ของโครงการที่กำหนดไว้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่  เพียงใด  โดยพิจารณาถึง

1.1  ความต้องการจำเป็นของโครงการ (need  assessment)  เพื่อให้ทราบถึงความจำเป็นหรือความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการ  สำหรับในประเทศไทย  มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมาก  นับตั้งแต่ความต้องการของโครงการ  เช่น  อาจเป็นโครงการเพื่อสนองนโยบายของพรรคการเมือง  หรือเพื่อมุ่งการหาเสียงมากกว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  หรือเพื่อสนองโยบายของผู้บริหารหน่วยงาน  เป็นต้น  ในทางกลับกัน  ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความต้องการจริงแต่ไปขัดผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจหรืออาจทำให้โครงการนั้นต้องหยุดชะงักหรือล้มเลิกได้ด้วยวิธีการต่างๆ กัน  เช่น  ไม่สนับสนุนโครงการ  หรือไม่อำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการเท่าที่ควร  เป็นต้น

1.2  ความเป็นไปได้ของโครงการ(feasibility)  เพื่อให้ทราบโอกาสในการจัดทำโครงการต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัด  ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินโครงการทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเสนอเป็นข้อมูลสารสนเทศหรือข้อสังเกตซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขหรือปรับปรุงโครงการ  หรือเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ในการดำเนินโครงการ  ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เป็นเงื่อนไขบางประการ  อันจะนำไปสู่การยุติปัญหาในที่สุด  โครงการต่าง ๆ อาจจะมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องสูงมาก  ประกอบกับรัฐบาลของไทยเป็นรัฐบาลผสมและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง  เป็นผลให้แนวนโยบายบางอย่างของรัฐบาลต้องปรับตามไปด้วย  จึงทำให้โครงการต้องมีการทบทวนและบางโครงการต้องมีการทบวนและบางโครงการต้องหยุดชะงักหรือล้มเลิกด้วยปัจจัยทางการเมืองดังกล่าวแล้ว

1.3  วัตถุประสงค์ของโครงการ (objectives)  เพื่อระบุถึงสิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นจากโครงการ  โดยพิจารณาจากกิจกรรมของโครงการในสภาพความเป็นจริง  ส่วนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่นอน  จึงจำเป็นต้องแจ้งหรือชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่นอนทราบ  เพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ต่าง ๆของโครงการทั้งนี้เพื่อให้ความสำคัญกับโครงการ  และเพื่อให้เกิดความสะดวกรวมทั้งการได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่

1.4  ความพร้อมและทรัพยากร (resources  and  readiness)  ในด้านต่าง ๆ เช่น  เงินทุนหรืองบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  บุลากร  เป็นต้น  ปัญหาเรื่องบประมาณอาจส่งผลถึงวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการ  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางการเมืองรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ในเรื่องของความต้องการ  และความเป็นไปได้ดังที่กล่าวมาแล้ว  ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า  และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นได้

จากที่กล่าวมาในเรื่องของสภาพแวดล้อมจะเห็นได้ว่า  การดำเนินโครงการในประเทศไทยมักมีปัจจัยหรือเหตุผลด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อย ๆ นอกจากนั้นหน่วยงานในระดับนโยบายต่าง ๆ มักจะขาดข้อมูลพื้นฐาน  ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม  แล้วมักวางแผนไว้อย่างหลวม ๆ  โดยอ้างว่าเพื่อความยึดหยุ่น  ทำให้ไปสู่การปฎิบัติได้ยากหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร  ส่วนเรื่องความ

เป็นไปได้ของโครงการ  ตลอดจนวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และความพร้อม  รวมทั้งทรัพยากรในด้านต่างๆ  นั้นเป็นปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมที่สำคัญสำหรับการประเมิน  ซึ่งผู้ประเมินโครงการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและครบถ้วนเสมอ  ทั้งนี้เพื่อชี้ประเด็นปัญหาและเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติได้อย่างสัมฤทธิ์ผลต่อไป

2.  กระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ (process)  หมายถึงขั้นตอนหรือกรรมวิธีที่จะต้องปฏิบัติตามลำดับก่อนหลังอย่างเป็นระบบและครบวงจร ในระหว่างดำเนินโครงการกระบวนการดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปตามเป้าหมายในเชิงปรัชญาของแต่ละโครงการ เทียนฉาย กีระนันทน์ ( 2537 : 1-2 )  เช่น  โครงการธุรกิจมีเป้าหมายหลักก็คือ  การแสวงหากำไรจากการดำเนินธุรกิจนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ด้วยการลดทุนการดำเนินงานให้เหลือน้อยที่สุด  ส่วนโครงการทางการศึกษาของรัฐบาลเป้าหมายหลักก็คือ  การปลูกฝังความรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก  เยาวชน  และบุคคลทั่วๆ  ไป  โครงการประเภทนี้มุ่งจะไม่ยุ่งแสวงหากำไรสูงสุด  แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติในระยะยาว  เป็นต้น

ถึงแม้ว่ากระบวนการปฏิบัติระหว่างการดำเนินโครงการจะมีความแตกต่างกัน  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในเชิงปรัชญาของแต่ละโครงการนั้น  ๆ  ดังที่กล่าวมาแล้วแต่สำหรับการประเมินโครงการโดยทั่วไปมีองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษก็คือความสอดคล้องของกิจกรรมและช่วงเวลาโดยพิจารณาถึง

2.1  กิจกรรม (activity)  เพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมนั้น ๆ มีความสอดคล้องหรือตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่และมีการจัดลำดับที่เหมาะสมต่อเนื่องกันมากหรือน้อยเพียงใด

2.2  ช่วงเวลา (timing)  เพื่อให้ทราบว่าช่วงเวลาที่จะดำเนินโครงการทางด้านกิจกรรมนั้น ๆ  มีความเหมาะสมเพียงไร  มีข้อจำกัดประการใด  และช่วงเวลาที่กำหนดไว้นั้น  สามารถจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมได้ตามความจำเป็นหรือไม่  และเพราะเหตุใด

การดำเนินโครงการทางด้านบริการสังคมในประเทศไทย  ส่วนใหญ่เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะมีปัญหาเรื่องช่วงเวลาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเรื่องการเมืองรวมทั้งปัญหาทางระบบกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น  โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องช่วงเวลา  จึงประสบปัญหาได้ง่าย เช่น  โครงการเกษตรที่ต้องอาศัยฤดูกาล  หรือโครงการเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ไม่ทันกับความต้องการ  เช่น  โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  เป็นต้น

นอกจากปัญหาเรื่องการเมืองและระเบียบของทางราชการแล้วยังมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง  ๆ  และลักษณะของโครงการที่จัดทำ ซึ่งบางโครงการมีหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันหลายหน่วยงาน  หรือบางหน่วยงานมีนโยบายซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่ทำให้ต้องจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกัน  สำหรับภาคเอกชนโดยทั่วไปจะมีความคล่องตัวสูงแต่ก็มักประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ  ทำให้การดำเนินโครงการอยู่ในวงแคบ  จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก  ที่มีผลต่อการดำเนินโครงการในประเทศไทย  ทั้งด้านความสอดคล้องและความต่อเนื่องที่มีต่อกิจกรรมซึ่งกำหนดไว้

  1. ผลผลิตของโครงการ(outcome) คำว่า “ผลผลิต” (outcome)  นั้นมีความหมายครอบคลุมคำศัพท์ภาษาอังกฤษ  ทั้ง 3  คำ ดังนี้  1) product  ผลิตผล 2) Output  ผลลัพธ์ 3) Outcome  ผลผลิต  ด้วยเหตุนี้  คำว่า  “ผลผลิตของโครงการ”   จึงหมายถึง ผลงานหรือผลที่ได้จากการกระทำกิจกรรมใด ๆ  ของแต่ละโครงการ  โดยสามารถแบ่งผลงานดังกล่าวเป็น 3 ประเภท คือ ผลรวม (overall)  ผลกระทบ (Impact) และคุณค่าหรือประโยชน์ (utility)  ตามลำดับ

ในการประเมินผลผลิตของโครงการใด ๆ ก็ตาม  จึงเป็นการประเมินเกี่ยวกับ  สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนั้น ๆ โดยพิจารณาถึง

3.1  ผลรวม (overall)  เพื่อให้ทราบถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากกิจกรรมของโครงการทั้งโดยทางตางและทางอ้อม

3.2  ผลกระทบ (impact)  เพื่อให้ทราบถึงผลที่ตามมาจากการดำเนินโครงการนั้น ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  รวมทั้งผลกระทบจากที่คาดหวังและมิได้คาดหวังไว้

3.3  คุณค่าหรือประโยชน์ (utility)  เพื่อให้ทราบถึงคุณค่าหรือความสำคัญของผลที่ได้จากการประเมินทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจหรือเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อไป

กล่าวโดยสรุป  การประเมินผลผลิตของโครงการจะทำให้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงได้อย่างครบถ้วน  แม้ว่าในบางครั้งจะมีปัญหาอุปสรรคที่สามารถหลีกเลี่ยงได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลทางกฎระเบียบ และเงื่อนไขบางประการ  ทำให้การประเมินโครงการในบางครั้งไม่สามารถครอบคลุมทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ได้บางโครงการจึงอาจจะประเมินเฉพาะผลผลิตที่เป็นผลรวมหรือบางโครงการก็อาจจะประเมินเฉพาะความรู้สึกทั่ว  ๆ  ไป  ของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้การประเมินผลผลิตของโครงการจึงต้องยึดหยุ่นไปตามสภาพที่เหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละโครงการ

8.2  คุณลักษณะสำคัญของแบบจำลอง  ซีโป  (CPO)

แบบจำลองการประเมิน “ซีโป (CPO)”  ที่ได้พัฒนามาเพื่อใช้ประเมินโครงการต่างๆ  ในประเทศไทยนั้นได้เน้นการประเมินในด้านต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง  โดยเริ่มตั้งแต่การประเมินปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมอย่างละเอียด  การประเมินกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการและการประเมินผลผลิตของโครงการตามลำดับ  จึงนับว่าเป็นรูปแบบของการประเมินที่ครบวงจร

ถึงแม้ว่าตามโครงสร้างของแบบจำลอง “ซีโป (CPO)”   นี้กระบวนการประเมินจะไม่สามารถเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ  แต่ผู้ประเมินก็สามารถจะหาข้อมูลหรือสารสนเทศต่าง  ๆ ที่จำเป็นของโครงการนั้น ๆ ได้จากทุกขั้นตอนทำให้ทราบปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติโครงการรวมทั้งทำให้ทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหามีใครบ้าง  ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีโอกาสเจรจาต่อรองกันทุกขึ้นตอนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับแนวโน้มของการประเมินโครงการในยุคได้เป็นอย่างดี  เพราะผู้ประเมินโครงการมีบทบาทสำคัญในการหาทางให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีโอกาสร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันนี้ให้ยุตด้วยวิธีการเจรจาต่อรองทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อมแล้วแต่กรณี

อนึ่งการเจรจาต่อรองโดยทางตรง  ในที่นี้หมายถึงการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พูดจากันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา  โดยอาศัยข้อค้นพบที่ได้รับจากการประเมินโครงการนั้น ๆ เป็นพื้นฐานที่สำคัญ  เช่น  การจัดกิจกรรมของรัฐบาลบางโครงการไม่สามารถจะดำเนินการได้ทันตามผังเวลาที่กำหนด  เพราะติดขัดเกี่ยวกับระเบียบของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ทางราชการได้วางไว้  ในกรณีเช่นนี้  ก็ควรจัดให้มีการเจรจาต่อรองกันโดยตรงระหว่างบุคคล  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาร่วมกันว่า  จะสามารถดำเนินงบประมาณสำรองจากส่วนใดมาใช้แทนไปก่อนได้บ้างโดยที่ไม่ขัดต่อตัวบทกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ  ตลอดจนไม่ทำให้โครงการนั้น ๆ  เกิดผลเสียหายตามมาในภายหลังได้

ส่วนการเจรจาต่อรองทางอ้อม  หมายถึง   การที่ผู้ประเมินได้ปฏิบัติตนเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย    โดยทำหน้าที่ช่วยเจรจาประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ยังไม่มีข้อยุติให้ผู้เกี่ยวของทุกฝ่ายได้เข้าใจอย่างชัดเจน  สำหรับในกรณีที่การเจรจาต่อรองไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้  บาทบาทของผู้ประเมินก็สามารถจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาของตน  เพื่อที่จะได้แสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุด  ในการแก้ปัญหาและพัฒนาโครงการเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป  การเจรจาต่อรองทั้งทางตรงและทางอ้อมของทุกฝ่าย   ตามนัยของแบบจำลองการประเมิน “ซีโป (CPO)”  นี้  จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งคุณธรรมที่ดีงามของสังคมด้วย

กล่าวโดยสรุป  คุณลักษณะที่สำคัญของแบบจำลอง “ซีโป (CPO)”    ได้พัฒนามาจากแนวความคิดหลัก  4  ประการคือ  1) แนวคิดเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองทั้งทางตรงและทางอ้อม  2) แนวคิดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  เพื่อให้ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม    3) แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินที่เป็นระบบอย่างครบวงจรและตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมในสังคม  และ       4)  แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินที่สอดคล้องกับบริบท  ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมของโครงการ

จากคุณลักษณะรูปแบบการประเมินโครงการต่างๆ  ที่กล่าวมาแล้ว  ผู้ประเมินได้พิจารณาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย  จุดเด่น  และจุดด้อย  ของรูปแบบการประเมินโครงการต่าง ๆ แล้วพบว่า  การประเมินโครงการแบบ “ซีโป (CPO)”   (CPO’S  evaluation  model)   มีจุดเด่นหลายประการสำหรับการประเมินโครงการในประเทศไทย   และมีความเหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการประเมินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา  ดังนี้

  1. แบบจำลองการประเมิน “ซีโป (CPO)”   ซึ่งพัฒนาโดยคนไทย  (เยาวดี  รางชัยกุล  วิบูลย์ศรี)  มีการศึกษารูปแบบการประเมินแบบต่าง ๆ แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาจนได้รูปแบบที่เหมาสมสอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของสังคมไทย  ในยุคปัจจุบัน
  2. เมื่อได้พิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบการประเมินแบบอื่น ๆ แล้วปรากฏว่า  แบบจำลองการประเมิน “ซีโป (CPO)”   สามารถประเมินได้ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของโครงการทดลองนำร่องจัดตั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

  1. มาตรฐานงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Standards of Information Technology for Educational)

สำนักเทคโนโลยี สพฐ. ได้กำหนดมาตรฐานงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Standards of Information Technology for Educational) ดังนี้
มาตรฐานที่ 1 แผนงานและนโยบาย

มาตรฐานที่ 2 ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่าย

มาตรฐานที่ 3 ระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ

มาตรฐานที่ 4 บุคลากร

มาตรฐานที่ 5 การบริหารจัดการและการรักษาความปลอดภัย

 

มาตรฐานที่ 1 แผนงานและนโยบาย

ตัวชี้วัดที่ 1.1  มีแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงาน ระยะ 3-5 ปี ที่รองรับกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ตัวชี้วัดที่ 1.2  มีแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงาน ที่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่ 1.1

ตัวชี้วัดที่ 1.3  มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานในแต่ละปี

ตัวชี้วัดที่ 1.4  มีการกำหนดนโยบาย (Policy) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงาน

 

มาตรฐานที่ 2 ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่าย

ตัวชี้วัดที่ 2.1  มีระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ที่สามารถให้บริการและรองรับงานที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจได้

ตัวชี้วัดที่ 2.2 มีคอมพิวเตอร์สำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงาน เพื่อใช้ปฏิบัติงานตามภารกิจได้แบบ 1:1

ตัวชี้วัดที่ 2.3 มีระบบและการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายภายนอกที่ได้มาตรฐาน มีความเสถียรภาพ  มั่นคง และปลอดภัย

ตัวชี้วัดที่ 2.4 มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในสำนักงาน เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ตามตัวชี้วัดที่ 2.1 และเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายภายนอก ตามตัวชี้วัดที่ 2.3 ที่ได้มาตรฐาน มีความเสถียรภาพ  มั่นคง และปลอดภัย

ตัวชี้วัดที่ 2.5 มีการจัดหา หรือ พัฒนา หรือ ประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนและรองรับงานที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจได้

ตัวชี้วัดที่ 2.6  มีการจัดทำ หรือ ให้บริการรายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์เฉพาะของระบบคอมพิวเตอร์/ซอฟต์แวร์/ระบบเครือข่ายได้

มาตรฐานที่ 3 ระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ

ตัวชี้วัดที่ 3.1  มีฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านการบริหารจัดการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจ ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันเช่น นักเรียน, ครูและบุคลากร, โรงเรียน และสื่อการเรียนการสอน

ตัวชี้วัดที่ 3.2  มีการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศลงในระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ

ตัวชี้วัดที่ 3.3  มีระบบหรือกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เชื่อถือได้

ตัวชี้วัดที่ 3.4  มีระบบสืบค้นข้อมูลและสารสนเทศ ที่ยืดหยุ่นได้ตามเงื่อนไข และสะดวกต่อการใช้งานทั้งนี้ต้องครอบคลุมข้อมูลและสารสนเทศในทุกด้านที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจ

ตัวชี้วัดที่ 3.5  ให้บริการข้อมูลและสารสนเทศแก่บุคคลที่มาขอรับบริการ ตามความเหมาะสม

 

มาตรฐานที่ 4 บุคลากร

ตัวชี้วัดที่ 4.1  มีการแต่งตั้งบุคลากรของสำนักงานให้ทำหน้าที่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือ Chief Information Officer: CIO

ตัวชี้วัดที่ 4.2มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ดังต่อไปนี้

1)    งานด้านระบบคอมพิวเตอร์

2)    งานด้านระบบเครือข่าย

3)    งานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์

4)    งานด้านการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ

5)    งานด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน

 

มาตรฐานที่ 5 การบริหารจัดการและการรักษาความปลอดภัย

ตัวชี้วัดที่ 5.1  ระบบงาน ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย สามารถให้บริการได้โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบที่ติดขัดหรือหยุดการทำงาน แบบ 24×7

ตัวชี้วัดที่ 5.2  มีเว็บไซต์หลักของหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน W3C และมีชื่อโดเมนภายใต้ .go.th

ตัวชี้วัดที่ 5.3  ร้อยละ 95 ของบุคลากรที่ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของราชการ (.go.th) เพื่อปฏิบัติภารกิจ

ตัวชี้วัดที่ 5.4  มีแผนการสำรอง (Backup) และ การนำกลับคืน (Restore) ข้อมูลและสารสนเทศ

ตัวชี้วัดที่ 5.5  มีการติดตั้งและใช้งานระบบป้องกัน และการตรวจจับการบุกรุกระบเครือข่ายของสำนักงาน

ตัวชี้วัดที่ 5.6  มีการบันทึกและติดตามการใช้งานระบบเครือข่ายของหน่วยงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

ตัวชี้วัดที่ 5.7  มีระบบพิสูจน์ตัวตน และการกำหนดสิทธิการใช้งานหรือเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน

 

 

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ

6. แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ

 6.1 ความหมายของการบริหารจัดการ

การบริหารหรือการจัดการ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานทุกระดับ  โดยการบริหาร (Administration) นิยมใช้ในภาครัฐหรืองานที่เกี่ยวกับนโยบาย และการจัดการ (Management) นิยมใช้ในภาคธุรกิจเอกชนซึ่ง The Encyclopedia  Americana ได้ขยายความว่า การบริหารและการจัดการใช้ทดแทนกันได้ คำว่า “การบริหาร” เป็นการจัดการงานบริหารระดับสูง ส่วน “การจัดการ” เป็นศิลปะของการประสานองค์ประกอบหรือปัจจัยการผลิตเพื่อมุ่งความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การเป็นความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โดยอาศัยแรงงาน วัสดุ และเครื่องจักร สำหรับคำว่า การบริหารจัดการ Lunenburg & Ornstein (1996, อ้างถึงในสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2546 : 69) ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างคำดังกล่าวกับการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ว่า การบริหารจัดการจะให้ความสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิธีการจัดโครงสร้างองค์การ โดยภาพรวม ในขณะที่การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์จะสนใจการจัดการกับงานและคนงาน  ซึ่งอาจสรุปได้ว่าผู้ที่ใช้ในความหมายแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเห็นว่า คำว่า  การบริหาร  ครอบคลุมภาพรวมขององค์การในขณะที่การจัดการมุ่งไปที่การจัดการกับทรัพยากรเพื่อให้บรรลุจุดหมาย และคำว่า “การบริหาร” ในที่นี้จะใช้ในความหมายว่า เป็นความพยายามใช้ศาสตร์และศิลป์จูงใจผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกองค์การให้ร่วมมือร่วมใจดำเนินกิจกรรม เพื่อให้องค์การประสบความสำเร็จทั้งในเชิงประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

สำหรับการวิจัยในครั้งนี้จะใช้ทั้งสองคำในลักษณะที่แทนกันได้เพื่อความเหมาะสมซึ่งมีผู้ให้ความหมายของคำว่า การบริหารจัดการไว้มากมาย เช่น Peter F Drucker (1954 : 12) ปรมาจารย์ด้านการจัดการได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “การบริหาร คือ การทำให้งานต่าง ๆ ขององค์การสำเร็จได้ โดยอาศัยคนอื่นเป็นผู้ทำ” (Management is Getting  Things  done  Through  Other  People ) และ Ernest , Dale. (1968 : 43 ) ; Harold , Koontz and Cyril (1972 : 43) ให้คำจำกัดความของคำว่า การบริหารหรือการจัดการไว้สอดคล้องกันว่า การบริหารหรือการจัดการ หมายถึง การดำเนินงานของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันปฎิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยอาศัยปัจจัยทั้งหลาย ได้แก่ คน เงิน วัสดุสิ่งของ  ซึ่งนับว่าเป็นอุปกรณ์ของการจัดการนั้น ๆ รวมถึงกระบวนการจัดหน่วยงานและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้การทำงานบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และBarnard ,Chester I (1956 :28)  ให้ความหมายของการบริหารไว้สั้น ๆว่าการบริหาร หมายถึงการทำงานให้สำเร็จโดยบุคคลอื่น ซึ่งสอดคล้องกับ Fesler & Kettl (1991 : 7) ให้ความหมายว่า การบริหารเป็นการจัดการทำให้เกิดความสำเร็จและเห็นว่าการบริหารเป็นการระดมให้บุคคลดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมาย ส่วน Bartol & Martin (1991:6) ให้ได้ความหมายว่าการจัดการเป็นกระบวนการที่ทำให้เป้าหมายขององค์การประสบความสำเร็จโดยผ่านหน้าที่หลัก 4 อย่าง คือ การวางแผน  การจัดองค์การ การใช้ภาวะผู้นำและการควบคุม และพจนานุกรมนานาชาติ กรอลิเออร์  (The  Grolier  International  Dictionary.1992:11) ให้ความหมายว่า การบริหารเป็นศิลปะหรือการนำนโยบายของรัฐบาล ธุรกิจ หรืองานราชการของรัฐไปปฎิบัติ ซึ่ง Bovee & Others (1993 :5) ให้ความหมายว่าการจัดการเป็นกระบวนการที่องค์การสามารถบรรลุเป้าหมายโดยประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการวางแผน  การจัดองค์การ ภาวะผู้นำและการควบคุมองค์การในด้านบุคลากร กายภาพ งบประมาณและแหล่งข้อมูล  และสอดคล้องกับ Holt (1993 : 3) ให้ความหมายว่า การจัดการเป็นศาสตร์ของการกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยผ่านการกระทำของบุคลากร  ดังนั้นการบริหารจัดการ (Management)  จึงหมายถึง ชุดของหน้าที่ต่าง ๆ (A Set of Functions) ที่กำหนดทิศทางในการใช้ทรัพยากรทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายขององค์กร การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient)  หมายถึง การใช้ทรัพยากรได้อย่างเฉลียวฉลาดและคุ้มค่า(Cost–effective) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล  (Effective)  นั้น หมายถึง การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง (Right Decision) และมีการปฏิบัติการสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้  ดังนั้นผลสำเร็จของการบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลควบคู่กัน Ricky W.Griffin (1999:4) หรืออีกแนวหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า  การบริหารจัดการ  หมายถึง กระบวนการของการมุ่งไปสู่เป้าหมายขององค์กรจากการทำงานร่วมกัน  โดยใช้บุคคลและทรัพยากรอื่น ๆ นอกจากนี้ สมศักดิ์ คงเที่ยง (2542 :1) และภาวิดา ธาราศรีสุทธิ (2542:2) กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า การบริหาร หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลาย ๆ อย่าง ที่บุคคลร่วมกันกำหนดโดยใช้กระบวนการอย่างมีระบบและใช้ทรัพยากร  ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ซึ่ง วิโรจน์  สารรัตนะ (2545:3-4)  กล่าวว่า  การบริหารจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ (Science) เพราะเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการสืบค้น  หาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์  มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล มีการตั้งสมมุติฐานและทดสอบสมมุติฐาน เป็นศิลป์ (Art) เพราะบุคคลต้องใช้ทักษะและความรู้ทางการบริหารที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี จากการทำงานร่วมกันกับบุคคลอื่นเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการให้ความเห็นว่าการบริหารใช้ในภาครัฐ ส่วน เนตร์พัณณา ยาวิราช  (2546:2)และสุรัสวดี ราชกุลชัย (2543:3) กล่าวว่าการจัดการ (Management) ใช้ในแวดวงของภาคเอกชน หมายถึงกระบวนการที่ผู้บริหารปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ โดยอาศัยบุคลากรและทรัพยากรทางการบริหาร สอดคล้องกับทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ (2545:14) ทักษิณ  ชินวัตร (2545:6-7) และจารุพงศ์  พลเดช (2546 :13 – 18)  ที่กล่าวว่าการบริหารภาครัฐแนวใหม่ว่าเป็นการบริหารที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงทั้งกระบวนการ  รูปแบบและคุณภาพของการปฏิบัติงานและการให้บริการต่าง ๆ ให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนและสังคมได้อย่างแท้จริง  ส่วนทองทิพพา  วิริยะพันธุ์  (2546:156-157) ได้กล่าวถึงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพว่าการคิดเชิงระบบ (Systematic  Thinking)  จะนำไปสู่การจัดการอย่างเป็นระบบ (Systematic Management) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารงานเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากระบบเป็นรากฐานของประสิทธิภาพที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร และสอดคล้องกับ สมคิด บางโม (2545:59–60) ที่มีความเห็นว่าการจัดการคือศิลปะในการใช้คน  เงิน วัสดุอุปกรณ์ขององค์การและนอกองค์การ  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ

จากแนวคิดเกี่ยวกับความหมายของการบริหารจัดการที่นักวิชาการให้ไว้ดังกล่าวผู้วิจัยได้สังเคราะห์และสรุปว่า การบริหารจัดการ หมายถึง การดำเนินงานขององค์กรที่ต้องมีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  โดยนำปัจจัยทางการบริหารจัดการ ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์  และการจัดการ มาใช้อย่างเป็นกระบวนการโดยผ่านหน้าที่หลัก คือ การวางแผน การจัดองค์การ การเป็นผู้นำและการควบคุมให้การทำงานบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

6.2 ปัจจัยหรือทรัพยากรการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารจัดการที่สำคัญ  ได้แก่ บุคลากร(Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และการจัดการ (Management)  หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า 4M’s ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการบริหาร เพราะการบริหารจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพมีปริมาณเพียงพอ ต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการเพียงพอ ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะกับความต้องการของแผนงานและโครงการและต้องมีระบบการจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ศิริวรรณ เสรีรัตน์และคณะ. 2545 : 18)  ซึ่ง ธงชัย  สันติวงษ์ (2543:7-8)  และสมคิด บางโม (2545:61–62) ยังได้กล่าวถึงปัจจัยในการจัดการที่เป็นมูลเหตุที่สำคัญและผู้บริหารทุกคนต้องสนใจในงานด้านการบริหารจัดการ คือ 1)  คน  (Man)  ทรัพยากรบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะก่อผลสำเร็จให้กับกิจการได้อย่างมาก  ทั้งนี้ในแง่ของปริมาณและคุณภาพ  2) เครื่องจักร (Machine)  คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่จัดหาและซื้อมาอย่างพิถีพิถัน  เพื่อใช้ปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า 3) เงินทุน (Money)  นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ให้การสนับสนุนในการจัดหาทรัพยากรเพื่อหล่อเลี้ยงและเอื้ออำนวยให้กิจกรรมขององค์การดำเนินไปโดยไม่ติดขัด  และ 4) วัสดุสิ่งของ (Material) ถือเป็นปัจจัยที่มีปริมาณและมูลค่าสูงไม่ต่างไปจากปัจจัยตัวอื่น ๆ เพราะวัตถุดิบและสิ่งของเหล่านี้จะต้องมีการจัดหามาใช้ดำเนินการผลิต ส่วน DuBrin  and  Ireland (1993 : 245 ) กล่าวว่า ทรัพยากรองค์การ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางการเงิน ทรัพยากรที่เป็นวัตถุสิ่งของและทรัพยากรสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2545 : 6–7)  ได้สรุปว่า การจัดการเป็นเรื่องของการผสมผสานหรือบูรณาการทรัพยากรการจัดการ ประกอบด้วย คน (Man) เงิน (Money)  วัสดุอุปกรณ์  (Material) วิธีการ (Method) ตลาด (Market) ข้อมูลข่าวสาร (Information)  และเวลา(Time)

นอกจากนี้  ไตรรัตน์ จงจิตร (2546:127–135 ) และเสกสิฐ  เล้ากิจเจริญ (2550:7–8) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า หลักการ  4M’s  ได้แก่ 1) ด้านบุคลากร  หมายถึง  ผู้บริหารสถานศึกษา  ครู  และบุคลากรทางการศึกษา  ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน  การนิเทศ  การบริหารการศึกษาในสถานศึกษาเป็นผู้จัดหาและใช้ทรัพยากรการบริหารอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน  วัสดุอุปกรณ์  และการจัดการเพื่อนำสถานศึกษาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า  บุคลากรจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  เพื่อให้การดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษามีคุณภาพสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  2) ด้านงบประมาณ  หมายถึง  แผนการเงินของโรงเรียนที่จัดทำขึ้นโดยการกำหนดรายรับ  รายจ่ายของงาน  โครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการ  เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ในการบริหารจัดการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษา  จะต้องมีการจัดสรรทรัพยากรและบริหารงานงบประมาณอย่างมีคุณภาพเพื่อจัดหา  พัฒนา  ปรับปรุง  ซ่อมแซม  และใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างประหยัดสุด  เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสูงสุด  3) ด้านวัสดุอุปกรณ์  หมายถึง  การจัดสื่อการเรียนการสอน  และนวัตกรรมที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการเรียนการสอน  โดยมีระบบการจัดหาและบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ  พร้อมทั้งมีการบริการและส่งเสริมการใช้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบการบริหารงานวัสดุอุปกรณ์ที่ดี  จะนำไปสู่การบริหารจัดการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพทำให้การใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดคุณค่าตรงกับความต้องการของผู้บริหาร  ครูและนักเรียน  และ  4) ด้านการจัดการ  หมายถึง  กิจกรรมต่าง ๆ ที่กลุ่มบุคคลร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุก ๆ ด้าน  นับตั้งแต่บุคลิกภาพ  ความรู้  ความสามารถ  พฤติกรรมและคุณธรรม  เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันกับความต้องการของสังคมโดยกระบวนการต่าง ๆ ที่อาศัยการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีผลต่อบุคคล  และอาศัยทรัพยากรตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม  เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่  การจัดการที่เหมาะสมและคำนึงถึงบุคลากร  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์จะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีคุณภาพและนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเทคโนโลยีและการสื่อสารตามเป้าหมายที่วางไว้  ดังนั้น ปรีชา  คัมภีรปกรณ์ (2541:10) จึงได้เสนอความเห็นว่า  ในทางบริหารการศึกษา 4M  เป็นทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การบริหารการศึกษาจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ ต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนดำเนินงานมากพอ  ต้องมีวัสดุสิ่งของตามความต้องการของโครงการและแผนงานและจะต้องมีระบบบริหารที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

6.3 กระบวนการบริหารจัดการ

กระบวนการบริหารจัดการอาจจำแนกในรูปแบบที่แตกต่างจากกัน  เช่น Henri Fayol (1949 : 34)  จำแนกกระบวนการบริหารจัดการเป็น  5 หน้าที่  คือ 1)  การวางแผนงาน (Planning)  2) การจัดองค์การ (Organizing)  3) การบังคับบัญชา (Commanding)  4) การประสานงาน  (Coordinating)  และ 5) การควบคุม  (Controlling)  ส่วน Gulick, Luther, and L. Urwick (1939 : 13)  จำแนกกระบวนการบริหารจัดการเป็น 7 หน้าที่  ประกอบด้วยขั้นตอนที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า POSDCORB  คือ  1) การวางแผน (Planning)  หมายถึง การวางแผนหรือวางโครงการอย่างกว้าง ๆ ว่ามีงานอะไรบ้างที่จะต้องปฏิบัติตามลำดับ  พร้อมด้วยวางแนววิธีปฏิบัติ  ระบุวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงานนั้น ๆ ก่อนลงมือปฏิบัติการ  2) การจัดองค์การ (Organizing)  หมายถึง  การจัดรูปโครงสร้างหรือเค้าโครงของการบริหาร  โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานย่อยหรือของตำแหน่งต่าง ๆ ของหน่วยงานให้ชัดเจน  พร้อมด้วยกำหนดลักษณะและวิธีดารติดต่อประสานสัมพันธ์กันตามลำดับขั้นแห่งอำนาจหน้าที่สูงต่ำลดหลั่นกันไป  3) การจัดบุคลากร (Staffing)  หมายถึง  การบริหารงานบุคคลของหน่วยงาน  ตั้งแต่การแสวงหา  การบรรจุ  แต่งตั้ง  การฝึกอบรมและพัฒนา  การบำรุงขวัญ  การเลื่อนขั้น  ลดขั้น  ตลอดจนการพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งงานรวมทั้งการบำรุงรักษาสภาพของการทำงานที่ดีให้มีอยู่ตลอดไป  4) การสั่งการ  (Directing) หมายถึง  การวินิจฉัยสั่งการหลังจากที่ได้วิเคราะห์และพิจารณาโดยรอบคอบแล้วรวมทั้งการติดตามและให้มีการปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้น ๆ ในฐานะที่ผู้บริหารเป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน  5)  การประสานงาน  (Coordinating)  หมายถึง  การประสานงานหรือสื่อสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานย่อยหรือตำแหน่งต่าง ๆ ภายในองค์การให้เข้ากันได้  เพื่อให้งานเดินและเกิดประสิทธิภาพ  ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกัน  ทำให้ทุกหน่วยงานประสานกลมกลืนกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักขององค์การร่วมกัน  6) การรายงาน  (Reporting)  หมายถึง  การเสนอรายงานให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบต่าง ๆ ทราบความเคลื่อนไหว ความเป็นไปเป็นระยะ ๆ ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทราบความก้าวหน้าของงานของตนอยู่เสมอ  การเสนอรายงานจำเป็นต้องมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมีการวิจัย การประเมินผล  และมีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อการปรับปรุงได้ทันทีหรือการปรับปรุงในอนาคต  7)  การงบประมาณ (Budgeting)  หมายถึง  การจัดทำงบประมาณการเงิน  การวางแผนหรือโครงการใช้จ่ายเงิน  การทำบัญชี  และการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินโดยรอบคอบและรัดกุม  ซึ่ง Sears.  (1950 : 35) ได้พยายามประยุกต์เอาทฤษฎีการบริหารด้านธุรกิจและรัฐศาสตร์มาใช้ในการบริหารการศึกษา  ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้  การวางแผน (Planning)  การจัดองค์การ (Organizing)  การวินิจฉัยสั่งการ (Directing)  การประสานงาน (Coordinating)  และการควบคุม  (Controlling)  และ Tead.  (1951 : 105)  ได้มุ่งความสำคัญที่หน่วยงานย่อยในองค์การเป็นหลัก  มีกระบวนการบริหารงานโดยสรุปสาระสำคัญของกิจกรรมเป็น  10  ประการ  คือ  1) กำหนดความมุ่งประสงค์และจุดประสงค์ให้กระจ่างชัด  2) จัดทำโครงสร้างการบริหารงาน  3) กำหนดบทบาท  หน้าที่ความรับผิดชอบและอำนาจให้บุคลากร  4) มอบหมายอำนาจ  โดยอาศัยหลักการกระจายอำนาจ  5) ควบคุมการปฏิบัติงาน  6) รักษาปริมาณและคุณภาพของงานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  7) จัดให้มีคณะกรรมการต่าง ๆ เป็นตัวประสานงานในหน่วยงาน  8) บำรุงขวัญและกำลังใจ  9)  ประเมินผลการปฏิบัติงาน  และ 10) เตรียมวางแผนงานในอนาคต

นอกจากนี้  สมาคมผู้บริหารโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา  (The  American  Association  of  School  Administration.  1955 : 17)  ได้กำหนดรูปแบบการบริหารงานไว้ดังนี้  คือ  1) การวางแผน (Planning)  เป็นความพยายามที่จะให้การปฏิบัติงานตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ  จึงได้กำหนดงานที่จะต้องทำ  วิธีที่จะทำและจุดมุ่งหมายของการทำงานแต่ละอย่างไว้ล่วงหน้า  เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรในองค์การ 2) การแบ่งสรร (Allocation)มีการจัดแบ่งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรที่มิใช่มนุษย์ให้เป็นสัดส่วนพอที่จะดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ  3) การเร้าใจ (Stimulation) เป็นการกระตุ้น  เร้าใจและส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานให้ได้ผลดีทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 4) การประสานงาน  (Coordinating)  เป็นการจัดให้มีการประสานงานระหว่างหัวหน้างานของหน่วยย่อยให้เกิดความเข้าใจกัน  ประสานงานกันและขจัดข้อขัดแย้งให้ลดลงหรือหมดไป และ 5) การประเมินผลงาน (Evaluation)  เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงาน ตลอดจนการดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหา  และการวางแผนในช่วงระยะเวลาข้างหน้า  โดยมุ่งประเมินสัมฤทธิ์ผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้  ส่วน Litchfield (1956 : 3–29)  ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารว่า  เป็นวัฎจักรการบริหาร  (Cyclical  Nature)  กล่าวคือ กระบวนการบริหารจะเป็นวงจรใหญ่ทั้งองค์การ  ภายในวงจรใหญ่มีวงจรย่อย ๆ ที่เป็นการปฎิบัติงานตามหน้าที่เฉพาะอย่าง  และหน้าที่อื่น ๆ กระบวนการบริหารดังกล่าวประกอบด้วย  การตัดสินใจ  การจัดโปรแกรม  การติดต่อ  การควบคุม  และการประเมินค่าโดย Simon (1957:9)  ได้ขยายแนวคิดการบริหารออกไปอีกโดยเน้นที่หน้าที่ของผู้บริหารว่า  กระบวนการบริหารเป็นเรื่องของการตัดสินใจ (Decision – making)  ที่จะมีผลเกื้อกูลต่อการปฏิบัติงานของคนในองค์การเพื่อบรรลุผลความสำเร็จ  โดยผู้บริหารต้องตัดสินใจในเรื่องต่อไปนี้  คือ  1)  การระบุหน้าที่ของบุคคลให้ชัดเจนว่าขอบข่ายหน้าที่งานของบุคคลคืออะไร  2) การแบ่งอำนาจเพื่อกำหนดว่าบุคคลใดในองค์การหรือหน่วยงานนั้น ๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจให้แก่ปัจเจกบุคคล  3)  การวางขอบเขตจำกัดในการให้บุคลากรจะเลือกทำสิ่งใดตามความต้องการของตน  และให้มีการประสานงานด้านกิจกรรมของบุคคลในองค์การหรือหน่วยงาน  และ Gregg (1957:274–316)  ได้ให้รูปแบบการบริหารที่เน้นการกระตุ้นและจูงใจผู้ปฏิบัติงาน  ได้แก่  1) การวางแผน  2) การกำหนดอำนาจหน้าที่  3) การตัดสินใจสั่งการ  4) การเสนอรายงาน  5)  การใช้อิทธิพล  6)  การประสานงาน  และ 7) การประเมินผลงาน  ส่วน Mackenzie (1969 : 87)  ได้เสนอกระบวนการจัดการ (The  Management  in 3 – D)  เป็นลักษณะ  3 มิติ  กล่าวคือในองค์การหนึ่ง ๆ จะเริ่มต้นด้วยองค์ประกอบพื้นฐานสามประการ  คือ  1) ความคิด (Ideas)  2) สิ่งของ (Things)  และ 3) คน  (People)  ดังนั้นการจัดการองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้  โดยประการแรก  ผู้บริหารต้องมีมโนทัศน์  (Concept)  หรือวิสัยทัศน์คือ  การวางแผนองค์การให้เจริญก้าวหน้า  ประการที่  2  ผู้บริหารจะต้องบริหาร (Administration) งานที่เป็นสิ่งของ (Things)  วัสดุครุภัณฑ์  อาคารสถานที่  ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ และประการที่  3  ผู้บริหารต้องใช้ภาวะผู้นำ (Leadership)  สร้างแรงจูงใจให้คน (People)  ในองค์การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน

5.2 การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

5.2   การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมและประสานงาน

ดูแลช่วยเหลือ รวมทั้งติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดต่อจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานั้น เป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งที่จะสร้างความสำเร็จของงานให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทางปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพของเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งมีจะความแตกต่างกันทั้งในสภาพเชิงกายภาพ (Physical) และสภาพเชิงบริบท (Context) ดังนั้น การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแต่ละแห่งสามารถบริหารจัดการได้ดีในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบาย วิสัยทัศน์ของผู้บริหารและปัจจัยเสริมขององค์การแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2555:1) ได้ศึกษาและจัดทำโครงการ

ทดลองนำร่องจัดตั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 7 เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและช่วยผลักดันให้การดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความเข้มแข็ง รวมทั้งเพื่อให้มีการทดลองนำร่องการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการช่วยพัฒนาการบริหารจัดการและการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาได้ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการ การปฏิบัติงานและการจัดการเรียนการสอน  โดยจัดตั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  จำนวน  7 เขต  ดังนี้

1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1

  1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2
  2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2
  3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2
  4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
  5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12 (นครศรีธรรมราช, พัทลุง)
  6. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์)

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดบทบาทกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้ดังนี้

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใน

สำนักงานและสถานศึกษาในสังกัด

  1. ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ สำหรับการบริหารจัดการและ

การจัดการเรียนการสอน

  1. ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาระบบเครือข่ายเทคโนโลยีและการสื่อสาร

ในสำนักงานและสถานศึกษาในสังกัด

  1. อบรม พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  2. ให้บริการเกี่ยวกับการปรับปรุง พัฒนาโปรแกรม รวมทั้งการให้บริการการติดตั้ง บำรุง

ซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของสำนักงานและสถานศึกษา

  1. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับ

มอบหมาย

ทั้งนี้ ได้กำหนดโครงสร้างของภารกิจงานกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน ดังนี้

1. กลุ่มงานระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2. กลุ่มงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ

3. กลุ่มงานสนับสนุนและการให้บริการจัดการเรียนรู้

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2553:4) ยังได้จัดตั้งศูนย์บริการด้าน ICT (Data Center) ประจำทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานส่วนกลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการองค์ความรู้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์และให้การสนับสนุน ส่งเสริม การบูรณราการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียนและจัดตั้งศูนย์วิทยบูรณากร ICT ประจำตำบลเพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการ ICT เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งทินกร พูลพุฒ (2552 : 198) ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า องค์ประกอบรูปแบบการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก แบ่งเป็น 4  องค์ประกอบ ดังนี้

1 การวางแผนการ

1.1 วิเคราะห์สถานภาพขององค์กรด้วยเทคนิค SWOT

1.2 กำหนดและทบทวนวิสัยทัศน์ด้าน ICT

1.3 กำหนดพันธกิจการ

1.4 กำหนดวัตถุประสงค์

1.5 กำหนดเป้าหมาย

1.6 กำหนดมาตรการ

2 กำหนดโครงสร้างและภารกิจด้าน ICT

2.1 จัดตั้งและกำหนดภารกิจ ICT

2.2 จัดตั้งและกำหนดภารกิจศูนย์เครือข่าย

3 การบริหารสินทรัพย์ ICT

3.1 การจัดหาจัดให้มี ICT

3.2 การใช้และการบำรุง รักษา ICT อย่างคุ้มค่า

3.3 การกำจัดหรือจำหน่าย ICT

4 การติดตาม ประเมินผล

4.1 กำหนดกรอบการประเมิน

4.2 สร้างเครื่องมือการประเมิน

4.3 ประเมิน

4.3 สรุปรายงานผล

 

ดังนั้น  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ยังไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขึ้นอยู่กับนโยบาย จุดเน้นและได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประกาศเรื่องโครงการทดลองนำร่องจัดตั้งกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อหาแนวทางการในบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อไป

5. แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

5. แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

 

แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานของประเทศ ได้ส่งเสริม สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและบริการทางการศึกษา โดยมีแนวทางการพัฒนาดังนี้

          5.1 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา

ขั้นพื้นฐาน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา  โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ สพฐ : OBEC ICT Service Center ให้เป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ทั้งด้านการบริหารจัดการและการเรียนรู้แก่หน่วยงานในสังกัดตั้งแต่ระดับสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานส่วนกลางและผู้ใช้ในระดับนักเรียน  ครูและบุคลากรทางการศึกษา  เจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาชนทั่วไป

ในการจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร OBEC ICT Service  Center มีเหตุผลที่สำคัญเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ผ่านมาพบว่า เกิดปัญหาขึ้นอย่างมากในด้านระบบคอมพิวเตอร์ ด้านซอฟแวร์ ด้านบุคลากรและด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นมีสาเหตุมาจาก

1.ปริมาณฮาร์ดแวร์ไม่เพียงพอ

2.ซอฟแวร์ที่พัฒนาขึ้นไม่ตอบสนองต่อการใช้งานตามภารกิจอย่างครบวงจร

3.บุคลากรส่วนใหญ่ไม่กระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

4.โครงข่ายอินเทอร์เน็ตของสถานศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงมีความเห็นว่าควรให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้นด้วยเหตุผล  4  ประการ ดังนี้

1.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใช้งานง่าย  ถูกและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

2.ด้านการลงทุนที่เป็นศูนย์กลาง (Centralize) เป็นการลงทุนในลักษณะของการใช้ทรัพยากรร่วมกันทำให้เกิดการลงทุนที่ต่ำ

3.ด้านกฎหมาย  การรวมศูนย์บริการข้อมูลไว้ส่วนกลาง  ทำให้สะดวกในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสอดคล้องกับ พ.ร.บว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคงด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์

4.ระบบการให้บริการ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน่วยงานที่ใหญ่  มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ระบบงานที่ให้บริการผ่านระบบจำนวนและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่เสมอ ดังนั้น การออกแบบฐานข้อมูลกลางเพียงระบบเดียว ทำให้สะดวกในการรวบรวมประมวลผล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ

กรอบแนวคิดในการอออกแบบศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร OBEC  ICT  Service Center ใช้หลักการออกแบบเชิงบริการ  (Service–Oriented Architecture : SOA)

Service–Oriented Architecture : SOA คือ ระบบสถาปัตยกรรมเชิงบริการเป็นแนวคิดในการออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรให้เป็นระบบเชิงบริการ(Service–Oriented) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรต่างๆ  ในปัจจุบันมักจะมีสถาปัตยกรรมแบบ  Silo–Oriented  Architecture ซึ่งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในแต่ละระบบต่างเป็นอิสระต่อกัน  อาจมีระบบที่ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน จึงทำให้ยากต่อการเชื่อมต่อ บำรุงรักษายาก มีค่าใช้จ่ายสูง  ปรับเปลี่ยนระบบได้ยากและการพัฒนาระบบใหม่ ๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า

ถ้าการพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรให้เป็นระบบ  SOA  จะเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ  ดังนี้

1.สามารถเชื่อมโยงธุรการต่าง ๆ

การพัฒนา SOA มีการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ  ภายในองค์กรและภายนอกองค์กรที่อาจใช้เทคโนโลยีที่ต่างกันทำให้เราสามารถเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ที่อาจอยู่ต่างระบบกันและสามารถให้บริการกับลูกค้า คู่ค้าและบุคลากรในองค์กรได้

2.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย

การพัฒนา SOA สามารถที่จะทำให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเดิมมาใช้ใหม่ได้  ดังนั้น  การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ จึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและทำให้สามารถแข่งขันกันในตลาดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

3.การลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า

การพัฒนา SOA ทำให้องค์กรสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย  จึงทำให้เราสามารถที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องผูกติดกับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระยะยาวลดลง

4.การทำงานของฝ่ายธุรกิจและฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสอดคล้องกันมากขึ้น

การพัฒนา Business Process ของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีขั้นตอนที่ชัดเจน  สามารถแสดงในเชิงกราฟฟิกได้และเข้าใจง่ายขึ้นและหน่วยงานทางธุรกิจที่ต้องเข้าใจด้านกระบวนการทางธุรกิจ   สามารถที่จะเข้ามาทำการพัฒนาร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดีขึ้น

ระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการใช้งานในปัจจุบันได้แก่

1.ระบบงานคอมพิวเตอร์ (Application Software)

ในปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำระบบงานคอมพิวเตอร์มาใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถแยกออกตามสถาปัตยกรรมได้ดังนี้

  1. 1 Standalone

1.1.1  OBRCxx ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษาของสถานศึกษาในแต่ละปีการศึกษา

1.1.2 B-Obec  ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลสิ่งก่อสร้างของสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา

1.1.3 P-Obec  ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลบุคลากรในสังกัด  มีรายละเอียดคล้าย ก.พ.7

1.1.4 Student 44  ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลนักเรียนและผลการเรียนเป็นรายบุคคลและส่งข้อมูล  GPA-PR  ให้สำนักงานทดสอบทางการศึกษา

1.1.5 OUC  ใช้บันทึกข้อมูลต้นทุนผลผลิตของหน่วยการในสังกัด

1.1.6 สื่อ CAI  ใช้เป็นสื่อช่วยสอนของโรงเรียนที่มีความพร้อม

1.2 Client-Server

1.2.1 SMIS ใช้บันทึกข้อมูลสถานศึกษา นักเรียนรายบุคคล บุคลากร  รายบุคคล  หลักสูตรและข้อมูลผลการเรียนของนักเรียน

1.2.2 e-library ใช้รวบรวมสื่อดิจิตอล ที่เป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายภายใน มีเฉพาะสถานศึกษาที่มีความพร้อม

1.3 Web Service (Silo–Oriented  Architecture)

1.3.1 e-filling ระบบจัดการงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

1.3.2 Data on web ใช้สำหรับให้สถานศึกษารายงานข้อมูลการรับนักเรียนจำนวน  นักเรียน ห้องเรียน จำนวนครู รายภาคเรียน

1.3.3 e-mail ระบบจัดการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานในสังกัดและของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา

1.3.4 M-Obec ใช้สำหรับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รายงานข้อมูลครุภัณฑ์

1.3.5 e-Me ใช้สำหรับรายงานข้อมูลทั่วไป บุคลากร โครงการในแผนปฎิบัติการ  และงบประมาณของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

1.3.6 Monitor ใช้สำหรับให้ทุกสถานศึกษารายงานข้อมูลการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและให้สถานศึกษาที่ได้รับจัดสรรครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน รายงานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์  การพัฒนาบุคลากรด้าน ICTและสื่อ ICT

1.3.7 KMC สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา จัดทำขึ้นโดยให้บุคลากรแต่ละคนนำเสนอความรู้ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์

1.3.8 GIS สพฐ. และสพท. นำเสนอข้อมูลสารสนเทศเป็นรายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

1.3.9 คำรับรองการปฏิบัติราชการ ใช้สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารายงานข้อมูลผลการปฎิบัติราชการตามตัวชี้วัดที่กำหนด

1.3.10 e-Learning ใช้สำหรับผู้สอนและผู้เรียนให้เป็นแหล่งจัดการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์เฉพาะสถานศึกษาที่มีความพร้อม

2. ระบบคอมพิวเตอร์ (Hardware Existing Solution)

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่หน่วยงานในสังกัดตั้งแต่สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานส่วนกลางเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ โดยได้ออกแบบระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้เหมาะสมกับภาระงานของหน่วยงานในแต่ละระบบ  ดังนี้

2.1 ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน

ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเป้าหมายในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนในอัตราส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนที่ 1 ต่อ 10  มีทั้งสิ้น 5 ระบบ ดังนี้

1)      ระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประจำห้องปฏิบัติการ

คอมพิวเตอร์  (Personal Computer Lab : PCL)

2)      ระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่ประจำห้องปฏิบัติ

การคอมพิวเตอร์  (Movable Computer Lab : MCL)

3)      ระบบคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียนประจำห้องปฏิบัติการ

คอมพิวเตอร์ ( Tablet  Computer Lab : TCL) เชื่อมเครือข่ายใยแก้วนำแสง

4)      ระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประจำห้องเรียน (Personal

Computer for Classroom :PCC)

5)      ระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่ประจำห้องเรียน

(Movable Computer for Classroom :MCC)

2.2 ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารงาน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารจัดการ ไว้ 3 ระดับ ดังนี้

1) ระดับสถานศึกษา เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มโรงเรียนพัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐานสากล,กลุ่มโรงเรียนคุณภาพมาตรฐานระดับอำเภอและกลุ่มโรงเรียนดีประจำตำบล กลุ่มเป้าหมายรอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาพิเศษ

2) ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เน้นการพัฒนาเชิงระบบ โดยมุ่งหวังให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีระบบคอมพิวเตอร์ขนาดกลางและพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้าน ICT แก่สถานศึกษาในสังกัดทั้งด้านการบริหารจัดการและการเรียนการสอน

3) ระดับสำนักงานส่วนกลาง เน้นการพัฒนาเชิงระบบ เพื่อตั้งเป็ฯศูนย์บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่หน่วยงานในสังกัด ทั้งระดับสถานศึกษา และสำนักงานเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและให้บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นศูนย์กลางการสำรองข้อมูล ให้แก่สถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง

2.3 ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับ Data Center Service ของ  สพฐ.

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยให้ชื่อว่า OBEC ICT Service Center  โดยได้จัดหาระบบคอมพิวเตอร์ในระดับ Enterprise Solution ทั้งใน Platform ของ Windows Base และUNIX Base เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีระบบงานที่ให้บริการ ดังนี้

2.3.1 ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

2.3.2 ระบบติดตามประเมินผลโครงการ

2.3.3 ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

2.3.4 ระบบงานประกาศผลการสอบ NT

2.3.5 ระบบอื่น ๆ

3. ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer  Network)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้เชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์  (Computer Network) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้แก่ หน่วยงานในสังกัดทั้งระดับสถานศึกษา   และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารงาน  ซึ่งมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นหน่วยงานบริหารจัดการเครือข่าย เครือข่ายดังกล่าวเรียกว่า MOE-Net และมีหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการด้านเครือข่าย (Network Provider) ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำหรับรูปแบบในการเชื่อมต่อมี  3 รูปแบบ คือ

3.1 สายเช่าความเร็วสูง (Leased Line)

3.2 คู่สายโทรศัพท์ความเร็วสูง (ADSL)

3.3 ระบบจานดาวเทียม (Satellite)

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้วิเคราะห์ภารกิจงานของหน่วยงานในสังกัด  ทั้งระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาและได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาเชิงระบบ  ดังนี้

1.ระบบงานคอมพิวเตอร์ (Application Software)

ในช่วงแรกกำหนดให้มีการพัฒนาระบบในศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC ICT Services Center) จำนวน 4  ระบบคือ

1.1 สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office)

1.2 ระบบสนับสนุนการบริหารงานบุคลากร (HR)

1.3 ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  (OBEC Management  Information  System : OBEC-MIS)

1.4 ระบบการจัดการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Learning Management  System : e-LMS)

2. ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับ OBEC  ICT  Services  Center

สำนักงานคณะกรรการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ ไว้ 4  ส่วนคือ

2.1 ส่วนให้บริการด้าน Internet  ในระดับ  Access Layer

2.2 ส่วนให้บริการ Web Service ในระดับ Process Layer และService  Layer

2.3 ส่วนให้บริการระดับฐานข้อมูล Resource Layer

3. ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  (Computer  Network)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้วางแผนขยายการติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ ไวไฟ (Wi-Fi)  โดยมอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งไวไฟในสถานศึกษา

4.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

4.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

จากการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร วิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบันนำไปสู่การกำหนดกรอบแนวทางการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษา โดยมีเป้าหมายที่จะตอบสนองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการเรียนการสอน ซึ่งเอื้อต่อการเข้าถึงสารสนเทศเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก  ปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สามารถช่วยลดเวลาและความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัยหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ด้วยรูปแบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ รวมถึงนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้คือ

 

วิสัยทัศน์

การศึกษาแห่งอนาคตเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(Enabling Future Education with ICT)

หมายถึง พัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเพิ่มสมรรถนะให้มีวัฒนธรรมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม วิจารณญาณและรู้เท่าทัน ด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม การเรียนรู้ การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างการศึกษาแห่งอนาคต

พันธกิจ

1.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเพิ่มสมรรถนะให้มีวัฒนธรรมการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม วิจารณญาณและรู้เท่าทัน

2.ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย

3.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลความรู้และทรัพยากรทางการศึกษา

4.ส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการศึกษา ที่มีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล

ทรัพยากรบุคคล

จากวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้เป็นองค์กรหลักในการจัดการและส่งเสริมการศึกษา ให้ประชาชนมีความรู้ มีคุณภาพ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง เป็นบุคลากรของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมฐานความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552-2556 ที่มีเป้าหมายการสร้างกำลังคนให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา(Smart Thailand) ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น ควรนำเป้าหมายดังกล่าวมาปรับใช้ในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา พ.ศ.2554-2556 ให้เหมาะสมตามบริบทของกระทรวงศึกษาธิการโดยจำแนกทรัพยากรบุคคลออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ

1.ผู้เรียน  หมายถึง นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งอาจเป็นผู้ที่มีร่างกายปกติ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนถึงผู้สูงอายุที่สมควรได้รับการศึกษาแบบในระบบ  การศึกษาแบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

2.ผู้สอน หมายถึง ครู อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อาวุโสที่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้  หรือองค์ความรู้ต่างๆให้แก่ผู้เรียนได้

3.บุคลากรทางการศึกษา หมายถึง ผู้บริหาร นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษารวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ไม่ได้มีหน้าที่ด้านการสอนโดยตรง

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีเอกภาพและบูรณาการสารสนเทศเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสม 4 ประการ เพื่อเอื้อต่อการศึกษาแห่งอนาคต (future  Education) ดังแผนภาพที่…….

dddd

แผนภาพที่……ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าว  สอดคล้องยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ฉบับที่  2  ประเทศไทย พ.ศ.2552-2556  ที่ได้มีการกำหนดไว้ ดังนี้คือ

1.การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและบุคลากรในทุกวิชาชีพให้มีความสามารถในการใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน (Information  Literacy)

2.การบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล (National ICT Governance)

3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4.การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ (e -Governance)

5.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Industry Competitiveness)  เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ

6.การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (ICT for Competitiveness)

 

ตารางที่………ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนแม่บท ICT  ประเทศไทย

 

 

ยุทธศาสตร์ของแผนแม่บท ICT  เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ

ยุทธศาสตร์ของแผนแม่บท ICT ประเทศไทย
1 2 3 4 5 6
1.สร้างกำลังคนให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสรรค์ มีธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม วิจารญาณ และรู้เท่าทัน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ×         ×
2.สนับสนุนการเรียนการสอน ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศไทย ×       ×  
  1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาของประเทศไทย
    ×   ×  
4.ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการด้านการศึกษา ซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างธรรมาภิบาลของสังคม   ×   ×    

 

4.5 มิติความต้องการเพื่อการศึกษา

แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ.2554-2556  ได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ  เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขององค์กรหลัก หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นจึงได้พิจารณาให้มีความครอบคลุม หรือตอบสนองความต้องการเพื่อการศึกษาในมิติต่าง ๆ ได้ ดังนี้คือ

1.มิติความต้องการด้านโยบาย (Policy)

หมายถึง  การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนมีความมั่นคง โดยเฉพาะส่วนที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งปกติจะใช้เวลาค่อนข้างมากในกระบวนการวางแผน คิดวิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนา จัดเก็บข้อมูล ตลอดจนถึงบำรุงรักษา เพื่อความเชื่อมั่นในการประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละฝ่าย

2.มิติความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

หมายถึง การพัฒนาด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบเครือข่าย ระบบการสื่อสารและระบบสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการอย่างพอเพียงเหมาะสมต่อการดำเนินพันธกิจตามบริบทของแต่ละฝ่าย

3.มิติความต้องการด้านการจัดการมาตรฐาน (Standardization)

หมายถึง การกำหนดให้มีหรือการใช้มาตรฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ สามารถบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรหลัก  หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.มิติความต้องการด้านสาระความรู้ (Educational  Content)

หมายถึง การจัดทำสาระความรู้ที่เหมาะสม จำเป็นต่อการเรียนการสอนทุกระดับทุกประเภท  การศึกษา  ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ผู้สอน ให้มีความรู้ความสามารถตามหลักสูตร ตามความเหมาะสมที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ การค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งสาระความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

5.มิติความต้องการด้านหลักสูตรและวิธีการ ( Curriculum  and  Method )

หมายถึง การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับทุกประเภท ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องสำคัญ ตลอดจนถึงวิธีการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการทบทวน ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างรู้เท่าทัน มีจริยธรรมและมีการใช้งานอย่างสร้างสรรค์

6. มิติความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากร (Human  Resources  Development)

หมายถึง การพัฒนาสมรรถนะการปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของบุคลากรในระดับต่างๆ  ให้มีศักยภาพในพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนการทำงานให้มีความรวดเร็วสะดวกสบาย ไม่ใช่เป็นภาระใหม่ที่จะต้องปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้นจากหน้าที่ประจำของแต่ละฝ่าย

7.มิติความต้องการด้านการบริการด้านการศึกษา  (Educational  Services)

หมายถึง การให้บริการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและการขอรับบริการของหน่วยงานอื่น ผู้เรียน รวมถึงประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ  การเรียนการสอน การเรียนรู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและในภาพรวมของประเทศ

4.3 สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

4.3 สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

โครงสร้างและกระบวนการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์กรหลัก คือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา  สำนักงานคณะกรรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคระอุดมการณ์การอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา  มีสถานภาพของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภาพรวมที่สามารถรองรับการบริหารจัดการและการดำเนินพันธกิจของแต่ละองค์กรหลักได้ในระดับหนึ่ง  ดังจะสังเกตได้จาดดารมีการใช้ระบบสารสนเทศที่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางการศึกษาในปัจจุบันมีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการขยายภารกิจ ปรับยุทธศาสตร์   และขอบเขตการดำเนินงานด้านการศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวในการเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของประชาชน และการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ  ส่งผลกระทบถึงความคาดหวังของทุกฝ่ายที่มีการต่อการดำเนินพันธกิจของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งในปัจจุบันมีสถานภาพการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและประเด็นที่เกี่ยวข้อง  คือ 1) ภาพรวมของประเทศไทยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา 2) สถานภาพการใช้เครือข่าย (Network) 3) สถานภาพความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) สรุปผลการวิเคราะห์ SWOT 5) สรุปภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ

  1. ภาพรวมของประเทศไทยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยโครงการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียบใต้ (The Southeast Asian Ministers of  Education Organization : SWAMEO)  ได้มีการสำรวจสถานะของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการศึกษาของกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยประเทศ บรูไนดารุซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร ไทย ติมอร์ และเวียดนาม โดยจัดทำเป็นกรณีศึกษาและแนวปฎิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices)  โดยมีการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ 10 มิติ (Dimensions) ซึ่งประกอบด้วย

  1.   การกำหนดวิสัยทัศน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการศึกษาของชาติ (National ICT in Education Vision)

2.  การกำหนดนโยบายและวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการศึกษาแห่งชาติ (National ICT in EducationPlans and Polices)

3.  การสนับสนุนนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและนโยบายด้านการศึกษา (Complementary National ICT and Education Policies)

  1.   โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในโรงเรียน (ICT  infrastructure and Resources in Schools)
  2.   การพัฒนาอย่างมืออาชีพสำหรับครูและผู้บริหารของโรงเรียน (Professional Development for Teachersand School Leaders) มีการเตรียมตัวครูและผู้บริหารโรงเรียนในการรับความคิดใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีการยอมรับการเปลี่ยนแปลง
  3.   การมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชน (Community/Partnership) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนนอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียน มีการเชื่อมต่อระหว่างสังคมในโรงเรียนและสังคมภายนอกโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน มีการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีพโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของคนในชุมชน
  4.   การกำหนดหลักสูตรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหลักสูตรการศึกษาของชาติ (ICT in the National Curriculum)
  5.   หลักสูตรการเรียนการสอน(Teaching and Learning Pedagogies)มีการสนับสนุนให้นักเรียนมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  6.   การประเมินใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Assessment) มีการออกแบบการประเมินโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตรของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน
  7.   การประเมินผลและการวิจัย (Evaluation and Research) มีการติดตาม ประเมินผลและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษามีผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สถานะของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบการศึกษาของแต่ละประเทศในแต่ละมิติว่ามีการพัฒนาอยู่ในขั้นตอนใด ให้มีมาตรฐานเดียวกัน การวิจัยนี้ใช้โมเดลขององค์การ UNESCO (UNESCO’s Model:Stages of ICT Development in Education) ซึ่งแบ่งระดับของการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกเป็น 4 ระดับคือ

ระดับที่ 1 ขั้นเริ่มต้น (Emerging Stage) คือ ริเริ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในระบบการศึกษา โดยผู้บริหาร ครูและผู้เรียน เริ่มตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในระดับขั้นพื้นฐาน

ระดับที่ 2 ขั้นประยุกต์ (Applying Stage ) คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในระบบการศึกษา โดยผู้บริหาร ครู และผู้เรียน ได้เรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เริ่มใช้ประโยชน์ในการบริหารและในหลักสูตร

ระดับที่ 3 ขั้นการแพร่กระจาย (lnfusing Stage) คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในระบบการศึกษาโดยผู้บริหาร ครู และผู้เรียน มีความเข้าใจว่าจะใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างไร และควรจะใช้เมื่อใด เพื่อที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนได้

ระดับที่ 4 ขั้นปรับโฉมใหม่ (Transforming Stage) คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในระบบการศึกษา โดยผู้บริหาร ครู และผู้เรียนมีการใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างนวัตกรรมในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนสอนยุคใหม่

ผลการสำรวจและประเมินสถานะของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในระบบการศึกษาของประเทศสมาชิก SEAMEO ได้แสดงไว้ในตาราง ที่ …….

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ …… ผลสำรวจและประเมินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

 

ICT In Education  Dimensions Emerging Applying Infusing Transforming
  1. การกำหนดวิสัยทัศน์ของ ICT ด้านการศึกษาของชาติ (National ICT in Education Vision)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   ติมอร์ตะวันออก กัมพูชา;พม่า บรูไน(กำลังพัฒนาไปสู่ Transforming ) อินโดนิเซีย;ฟิลิปปินส์ ไทย;เวียดนาม (กำลังจะพัฒนาไปสู่ Transforming) มาเลเซีย;สิงค์โปร
  1. การกำหนดนโยบายและวางแผนICT ด้านการศึกษาของชาติ (National ICT in Education Plans)
สาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;ติมอร์ตะวันออก กัมพูชา;พม่า อินโดนิเซีย;

ฟิลิปปินส์

ไทย

บรูไน;มาเลเซีย;สิงค์โปร

เวียดนาม

  1. การสนับสนุนเรื่องนโยบายด้าน ICT ของชาติและนโยบายด้านการศึกษา (complementary National ICT Education Policies)
สาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

กัมพูชา;พม่า อินโดนิเซีย;

ฟิลิปปินส์

ไทย

บรูไน;มาเลเซีย;

สิงค์โปร

เวียดนาม

 

  1. โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆ ด้าน ICT ในโรงเรียน (ICT Infrastructure Resources bin Schools)
กัมพูชา;ฟิลิปปินส์

อินโดนิเซีย;สาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

กัมพูชา;พม่า

อินโดนิเซีย;

ฟิลิปปินส์

พม่า

 

มาเลเซีย;ไทย

เวียดนาม

บรูไน;มาเลเซีย;

สิงค์โปร

ไทย;เวียดนาม

  1. การพัฒนาอย่างมืออาชีพสำหรับครูและผู้บริหารของโรงเรียน (Professional Development for Teachers School Leaders)
ประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

 

พม่า

 

ไทย

เวียดนาม (กำลังจะพัฒนาไปสู่ Transforming)

มาเลเซีย;

สิงค์โปร

 

  1. การมีส่วนรวมของสังคมและชุมชน (Community / Partnership)
รัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

บรูไน;กัมพูชา

อินโดนิเซีย;

พม่า

ฟิลิปปินส์ ;ไทย;เวียดนาม มาเลเซีย;

สิงค์โปร์

  1. การกำหนด ICT ในหลักสูตร การศึกษาของชาติ (ICT in the National Curriculum)
กัมพูชารัฐ;ประชาธิปไตยประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

อินโดนิเซีย;

พม่าฟิลิปปินส์ ;ไทย;

 

บรูไน(กำลังพัฒนาไปสู่ ระดับTransforming )

เวียดนาม

 

 

 

 

 

  1. หลักสูตรการเรียนการสอน (Teaching and Learning Pedagogies )
กัมพูชารัฐ;พม่า

อินโดนิเซีย

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;

ติมอร์ตะวันออก

กัมพูชา

อินโดนีเซีย;

มาเลเซีย;

พม่า;ไทย;เวียดนาม

 

บรูไน(กำลังพัฒนาไปสู่ ระดับTransforming )

อินโดนิเซีย;มาเลเซีย;]

ฟิลิปปินส์ ;ไทย;

สิงค์โปร์; เวียดนาม

 

มาเลเซีย;

สิงค์โปร์

เวียดนาม

 

 

  1. การประเมินใช้ ICT (Assessment )
กัมพูชารัฐ;

อินโดนิเซีย;พม่า

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;ฟิลิปปินส์ ;

ติมอร์ตะวันออก

ไทย;เวียดนาม

 

บรูไน;มาเลเซีย;

สิงค์โปร์

 

 
  1. การประเมินผลและการวิจัย (Evaluation and Research)
กัมพูชารัฐ;

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ;ฟิลิปปินส์ ;

ติมอร์ตะวันออก

อินโดนีเซีย;

ไทย;พม่า

บรูไน(กำลังพัฒนาไปสู่ ระดับTransforming )

มาเลเซีย;เวียดนาม

 

 

สิงค์โปร์

 

 

ที่มา: Report: Status of ICT Integration in Education in Southeast Asian Countries by

SEAMEO

 

จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษาที่แตกต่างกันมากเช่นบางประเทศมีการพัฒนาถึงระดับTransforming ในขณะที่บางประเทศเพิ่ง Emerging และด้วยความแตกต่างดังกล่าว ทำให้สามารถแบ่งระดับการพัฒนาของประเทศออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ประเทศกลุ่มที่ 1 : สถานภาพการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา จะอยู่ในระดับขั้นแพร่กระจาย (lnfusing)และขั้นปรับโฉมใหม่(Transforming)ในเกือบทุกมิติของการวิเคราะห์ซึ่งประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงค์โปร เพราะมีการวางแผนและมีนโยบายในระดับประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทุกห้องเรียน(ยกเว้นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของมาเลเซีย ) โดยมีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งมีอัตราส่วนของคอมพิวเตอร์ต่อจำนวนนักเรียนแต่ละคนค่อนข้างสูง ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้ทุกโรงเรียน มีการใช้ระบบการศึกษาแบบออนไลน์มากขึ้นและความแตกต่างในกลุ่มนี้ คือมาเลเซียและ สิงค์โปร จะมีความก้าวหน้ากว่าประเทศบรูไนโดยเฉพาะในมิติเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน(Teaching and Learning Pedagogies ) และ Community / Partnership

ประเทศกลุ่มที่ 2 : สถานภาพการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นแพร่กระจาย (Infusing) ในเกือบทุกมิติ ประกอบด้วย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย และเวียดนาม เพราะมีการพัฒนาแผนงานและมีนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่ามีช่องว่างการพัฒนาระหว่างเขตเมืองและชนบท ทำให้การพัฒนาในบางมิติอยู่ในขั้นตอนการประยุกต์ (Applying) หรืออาจอยู่ในขั้นเริ่มต้น (Emerging) เท่านั้นเอง ตัวอย่างเช่น การพัฒนาในมิติหลักสูตรการเรียนการสอน (Teaching and Learning Pedagogies) ของอินโดนิเซีย มีตั้งแต่ระดับขั้นเริ่มต้น (Emerging) ในจังหวัดที่อยู่ห่างไกลความเจริญไปจนถึงขั้นแพร่กระจาย (lnfusing) ในจังหวัดที่มีความเจริญมากขึ้น หรือ อย่างในประเทศเวียดนามจะมีตั้งแต่ระดับการพัฒนาในขั้นประยุกต์ (Applying) ไปจนถึงระดับขั้นปรับโฉมใหม่ (Transforming) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยและเวียดนาม มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา มากกว่าประเทศอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์

กลุ่มประเทศที่ 3: สถานภาพการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกือบทั้งหมดจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น (Emerging)  ในทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว พม่า และติมอร์ตะวันออก เพราเริ่มการพัฒนาแผนและนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา และเริ่มมีโครงการเพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ แม้ว่าจะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็กก็ตาม และประเด็นที่สำคัญของประเทศในกลุ่มนี้ คือ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ฮาร์ดแวร์ จะเห็นว่ากัมพูชาและพม่า มีการกำหนดวิสัยทัศน์ การวางแผน และนโยบาย (Complementary National ICT and Education Policies ) สำหรับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆที่ใช้ในโรงเรียน (ICTlnfrastructure and Resources in schools) มีความก้าวหน้ากว่า เพราะอยู่ในขั้นประยุกต์ (Applying) ขณะที่อีกกลุ่มอยู่ในขั้นเริ่มต้น (Emerging)

จากผลสำรวจเปรียบเทียบการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้ง 11 ประเทศ ได้นำไปสู่ประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้

  1. การพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายและวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านการศึกษาของชาติ ซึ่งหมายถึงการที่มีนโยบายในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าไปใช้ในโรงเรียนอย่างเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพ
  2. การพัฒนาเจ้าหน้าที่ทุกๆระดับที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อหลักสูตรในแง่มุมของการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาครู แต่ถึงยังขาดการพัฒนาให้แก่ผู้ทีกำหนดนโยบาย ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอนและการบริหารงาน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ถึงผลที่จะได้รับจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ว่าจะสามารถช่วยครูให้สอนได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรง
  3. การให้ความสำคัญต่อมิติการกำหนดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหลักสูตรการศึกษาของชิต และการประเมินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเห็นจากผลสำรวจที่ว่า แม้ประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่2 จะมีการพัฒนาในเกือบทุกมิติอยู่ในขั้นแพร่กระจาย (lnfusing) และขั้นตอนปรับโฉมใหม่ (Transforming) แต่ไม่มีประโยชน์ใดที่พัฒนาในมิติดังกล่าว จนอยู่ในขั้นปรับโฉมใหม่ (Transforming) เลย ซึ่งมีความสำคัญมากที่จะทำให้มั่นใจว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน
  4. ควรมีการแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด(Best Practices) และบทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้ ในกลุ่มสมาชิกของ SEAMEO และในกลุ่มโรงเรียนต่างๆ
  5. ควรมีการช่วยเหลือประเทศในกลุ่ม 3 ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยผ่านความช่วยเหลือจากประเทศที่มีการ พัฒนาก้าวหน้ากว่า
  6. ควรมีการวางแผนเพื่อการประเมินผล และมีการทำวิจัยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา
  7. สถานภาพการใช้ระบบเครือข่าย  (Network)

 

กระทรวงศึกษาการ มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างขั้นพื้นฐานระบบเครือข่าย ดังนี้คือ

  1. เครือข่าย MOENET เป็นเครือข่ายในความดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ให้บริหารครอบคลุมหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการรวมทั้งสถานศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.) ภาพรวมการจัดสรรขนาดช่องทางการสื่อสารล่าสุดในปี งบประมาณ 2552 มีดังนี้

  • หน่วยงานและสถานศึกษาที่มีการติดตั้งระบบสายสัญญานความเร็วสูง

(Leased Line) จะได้รับการปรับเพิ่มความเร็วเป็น 2Mbps

  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและวิทยาลัยเทคนิค ได้รับการ

ปรับเพิ่มความเร็วเป็น 4Mbps

  • สถานศึกษาที่ได้รับการติดตั้งเป็นระบบจานดาวเทียม ได้ปรับความเร็ว

เป็น 1 Mbps และในกรณีที่เป็นจานดาวเทียมบริษัท TOT หากระบบ ADSL สามารถให้บริการได้ จะปรับเปลี่ยนเป็น ADSL ในกรณีเป็นจานดาวเทียมของบริษัทSamart จะทำการติดตั้ง ADSL

  • หน่วยงานและสถานศึกษาที่ได้รับการติดตั้ง ADSL จะได้รับการปรับ

เพิ่มความเร็วเป็น 2-3Mbps

  1. เครือข่าย Uninet ในความดูแลของสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อให้บริการครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลและเอกชนบางส่วน ภาพรวมการพัฒนาล่าสุดในปีงบประมาณ 2552 มีการขยายความเร็วของเครือข่ายขึ้นเป็น 10Gbps สำหรับฺ Backbone และ Node หลัก รวมทั้งขยายความเร็วเป็น 1Gbps ไปยังสถาบันการศึกษาที่ให้บริการ โดยมีสมาชิกของเครือข่ายมากกว่า 213 หน่วยงาน

  1. เครือข่าย  VECTET ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ให้บริหารหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาอาชีวศึกษาทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้ชื่อโครงการ “เช่าเชื่อมโยงระบบเครือข่ายระหว่างสำนักงานคระกรรมการอาชีวศึกษากับอาชีวศึกษาจังหวัด”

  1. เครือข่ายย่อยเพื่อเพิ่มความคล่องตัวเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหาร

จัดการเครือข่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย

  • OBEC NET ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา

ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

  • NFE NET ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและ

การศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน. )

  • ONEC Net  ในความดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาศึกษา ( สกศ. )
  1. สถานภาพความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากการศึกษาสถานภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบกับการสัมภาษณ์ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พบประเด็นความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

  1. จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถ

ปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเอกภาพเป็นทิศทางหรือแนวทางการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายในกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรอื่นในระดับชาติ

  1. กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ชนิดเปิดเผยรหัส (Open source) การจัดทำสื่อการเรียนการสอนของครูอาจารย์สามารถที่จะนำไปเป็นผลงานทางวิชาการได้ รวมความก้าวหน้า (Career path) ในสายการทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

  1. การพัฒนาเครือข่ายเพื่อการศึกษาให้เป็นระบบกลาง ที่ทุกหน่วยงานสามารถจะ

เชื่อมโยงเข้ามาใช้งานอย่างสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความมั่นคงปลอดภัยสูง

  1. เครื่องมืออุปกรณ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง อาทิ เครื่องแม่ข่าย

ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อนำการเสนอรายงานวิทยุโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่แสดงภาพความระเอียดสูงเพื่อการออกแบบ เป็นต้น เพราะการจัดสรรจากส่วนกลางมักเป็นแม่แบบใช้งานทั่วไป

  1. ศูนย์กลางการเชื่อมโยงและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา อาทิ ข้อมูล

สื่อสารการเรียนการสอน เป็นต้น เพื่อแระโยชน์ในการใช้ข้อมูลรวมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. พัฒนาการระบบซอฟแวร์ให้เป็นมาตรฐานกลางที่แต่ละหน่วยงานสามารถใช้ร่วมกัน

ได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของกหารจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านการศึกษา รวมทั้งความสะดวกในกรอบข้อมูลเพียงครั้งเดียว  แต่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายระบบ

  1. พัฒนาการฐานข้อมูลกลางที่มีความถูกต้องสมบูรณ์ มีมาตรฐานชั้นความลับที่ดี

สามารถที่จะสนับสนุนการกำหนดนโยบายและจัดทำงบประมาณได้อย่างสะดวก รวมทั้งจัดเก็บฐานข้อมูลความดี (Good Practice ) เป็นแรงจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจในการทำความดีด้วยตนเอง

  1. ทิศทางการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในลักษณะที่เกื้อกูลกันระหว่างหน่วยงาน

รวมทั้งมีทีมงานช่วยจัดสื่อการเรียนการสอนที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียน  โดยเฉาพะอย่างยิ่งผู้พิการซึ่งจำเป็นต้องใช้สื่อที่เหมาะสมกับความพิการ  เพื่อการทบทวนหรือเรียนซ้ำด้วยตนเอง

  1. การจัดซอฟต์แวร์ให้เป็นลิขสิทธิ์ของกระทรวงศึกษาธิการหรือประเทศไทย ด้วยวิธีการ

จัดซื้อที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ เพื่อแจกจ่ายให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

  1. การจัดทำหลักสูตรในแต่ล่ะช่วงชั้นในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สารสนเทศให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรสำหรับผู้พิการและควรจะประเมินผลการศึกษาแยกต่างหากจากคนปกติ เพราะความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน

  1. แผนการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เป็นเครื่องมือปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรวมถึงการใช้ระบบ e-Training และ e-Learning ในการฝึกอบรมด้วย

  1. การจัดสรรงบประมาณระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อการดำเนินโครงการ

หรือการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับผู้พิการ เป็นต้น

  1. สรุปผลการวิเคราะห์ SWOT

การทำจัดทำแฟนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษานอกจากการวิเคราะห์สถานภาพการใช้งานและความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังมีการประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามที่มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผลสรุปดังนี้คือ

จุดแข็ง (Strength)

  1. กระทรวงศึกษาธิการ  ได้รับการสนับสนุนนโยบายและงบประมาณ เพื่อการพัฒนา

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

  1. กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายการพัฒนางานสานสนเทศให้มีประสิทธิภาพและมีนโยบาย

ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาสนับสนุน

  1. กระทรวงศึกษาธิการมีเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

และการสื่อสารระหว่างหน่วยงานได้

  1. กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทโดยตรงและรับผิดชอบด้านการศึกษาของประเทศ

อย่างชัดเจน

  1. กระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนบุคลากรของหน่วยงาน ในการจัดอบรม

เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

  1. กระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานในสังกัดที่เป็นสถานศึกษาจำนวนมาก ซึ่งสามารถ

เป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับการกำหนดนโยบายในระดับประเทศ

จุดอ่อน (Weakness)

  1.  ผู้บริหารระดับสูงขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

รวมทั้งผู้บริหารบางส่วนอาจไม่เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงไม่เข้าใจการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง ดังจะสังเกตได้ว่าบางส่วนนิยมดำเนินโครงการเชิงรับซึ่งเป็นเพียงโครงการขนาดเล็ก หรือใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อการบริหารตัดสินใจต่างๆ

  1. การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร รวมทั้งการเปลี่ยนบุคลากรในตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

กับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ในลักษณะของการดำเนินงานที่ไม่ต่อเนื่อง หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการและการทำงาน เช่น ใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการพัฒนาบุคลากรชุดใหม่ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานต้องล่าช้าหรือหยุดซะงักไป

  1. กระทรวงศึกษาธิการ ขาดแผนและแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี

สารสนเทศและการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคลากรได้ทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

  1. ในปัจจุบัน บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีภาระงาน

หลักด้านอื่นด้วย ทำให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปอย่างล่าช้า

  1. ขาดแคลนครู อาจารย์ ที่มีความสามรถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เพื่อที่จะบูรณาการกระบวนการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ

  1. โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งออกเป็น 5 องค์กรหลัก ทำให้ขาดเอกภาพในการ

ทำงาน ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขาดการบูรณาการทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อ นวัตกรรมและองค์ความรู้ความในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์

  1. กระทรวงศึกษาธิการ มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

และการสื่อสาร ทั้งด้านHardware Software People wareและNetwork ยังไม่พอ เช่น การจัดสรรครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังไม่พอต่อการใช้งานของบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน

  1. ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึง

ทุกหน่วยงาน รวมทั้งระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร

โอกาส  (Opportunity)

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ในการสร้างวัตกรรมใหม่ ๆ

ทางการศึกษาและพัฒนาการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าข้อมูลให้มีความสะดวกรวดเร็ว เช่น การจัดทำสื่อการสอน การจัดทำห้องเรียนเสมือน เป็นต้น รวมทั้งประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสทางศึกษามากขึ้นจากการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

  1. นโยบายของรัฐบาลทุกสมัยสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมา

ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน โดยมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาการศึกษา

  1. ตามกรอบนโยบาย IT 2010 ซึ่งเป็นแผนแม่บทระดับประเทศ กำหนดให้มีนโยบาย

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจน และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้าน e-Education ไว้โดยเฉพาะ

  1. สังคมปัจจุบันถือเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  ซึ่งชักนำให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่มี

ความสนใจและมีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากขึ้น สามารถใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สนับสนุนให้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการ

สื่อสาร มาช่วยการพัฒนาระบบการสื่อสาร เพื่อนำสารสนเทศต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ภัยคุกคาม (Threat)

  1. นโยบายการเมืองระดับประเทศมีความเปลี่ยนแปลงบ่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ซึ่งมักทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานหลายอย่างไม่เป้ฯไปตามแผนงานที่วางไว้เดิม

  1. ระบบการเมืองไทย อยู่ในช่วงของการกระจายอำนาจ (Distributed System) ทำให้หลาย

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนหรือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

  1. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ยังไม่สามารถ

รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องเสียเวลาทำแผนและเสียงบประมาณจำนวนมากในการเชื่อมต่อระบบเครือข่าย

  1. การจัดสรรงบประมาณด้านการวางระบบเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ

ในวงจำกัด ซึ่งเพียงพอสำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการปรับปรุง จึงเป็นอุปสรรคในการปรับปรุงความรวดเร็วของระบบเครือข่าย

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้งบประมาณ

สูงขึ้นในการลงทุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ซอฟแวร์ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างประสิทธิภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

  1. การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับชาติเป็นไปอย่างขาดเอกภาพ

ขาดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระบบ เกิดความสูญเสียเปล่าและใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า

  1. สรุปภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ

กระบวนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ มีลักษณะที่เรียกว่า “Silo Architecture” คือระบบต่างๆได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในต่างวาระต่างเหตุผลของการใช้งาน  และตามความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นเครื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีภารกิจเร่งรัดและมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องจำนวนมหาศาลอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของแต่ละฝ่ายไม่สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนหรือบูรณาการข้อระหว่างกันได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ผู้เรียนอาจต้องใช้ข้อมูลความรู้จากแหล่งอื่น ผู้บริหารต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์  เพื่อตอบสนองการดำเนินพันธกิจหรือยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจ เพราะข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจไม่ถูกต้องทันสมัย (Update) จึงเกรงจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือในผลการวิเคราะห์ที่มีต่อภาพรวมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ดังจะสังเกตได้จากบางกรณีที่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ  ข้อมูลที่ได้รับอาจกลายเป็นข้อมูลที่ล้าสมัยไม่เป็นปัจจุบัน หรือมีความคลาดเคลื่อนจากสภาพการณ์ที่เป็นจริง ดังนั้นการจัดทำแผนแม่บทฯฉบับนี้จึงกำหนดวิสัยทัศน์  พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การบูรณาการ

4. นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

4. นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

 

          จากนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  นอกจากจะมีการวิเคราะห์สถานภาพการประยุกต์ใช้และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นต่างๆ แล้ว ยังได้ผนวกสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมในทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ 2554 : 3-25) มีรายละเอียด ดังนี้

 

 

 

        4.1 เป้าหมายในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  ตามแนวทางยุทธศาสตร์มาตรการและโครงการที่กำหนดไว้แผนแม่บทฯฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การบูรณาการ  เพื่อที่จะเชื่อมประสานข้อมูลสารสนเทศด้านต่างๆ  ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินพันธกิจในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศร่วมกันตามบริบทของแต่ละฝ่ายได้อย่างมีเอกภาพ คือ สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันหรือมีความต่อเนื่องกันตามสิทธิ์ที่เหมาะสมในการใช้งานของแต่ละฝ่าย ได้อย่างเป็นระบบหรือเป็นกระบวนการด้วยความน่าเชื่อถือและด้วยความมั่นคงปลอดภัยในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามหลักวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังแผนภาพที่ ……

aaaa

แผนภาพที…….เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

 

เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา  ประกอบด้วย

  1. เครือข่ายเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (National  Education  Network : NEdNet) เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการเข้าถึงและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วประเทศ

2.ศูนย์สารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (National Education Information System : NEIS) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาที่เอื้อประโยชน์ต่อการสืบค้น  การประมวลผลและการเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลสำคัญทางด้านการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ  และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

3.ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ (National  Learning  Center : NLC) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมจัดเก็บ  และเชื่อมโยงสื่อการเรียนรู้  ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน  การเรียนรู้และเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่สำคัญด้านการเรียนการสอน การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการ  หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

            4.2 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ  สำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษา  เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสังคมแห่งภูมิปัญญา (Knowledge-Based  Economy)  จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วทั้งสังคม  โดยอาศัยการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้  ประกอบกับภาครัฐจะต้องดำเนินการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในระบบการศึกษา   ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อกาสร้างชาติที่มีวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรู้เท่าทันและมีธรรมาภิบาล  ดังนั้นการบริหารแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา พ.ศ.2554-2556  ให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจข้างต้น  กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดนโยบาย  ดังนี้คือ

1.กำหนดให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  สำหรับการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา

2.เร่งรัดการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ…..เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบเครือข่ายการศึกษาของประเทศให้มีความเป็นเอกภาพและมีความพร้อมต่อการประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง  ด้วยความสะดวกรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัย

3.เร่งรัดการจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อใช้เป็นแหล่งงบประมาณสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อการศึกษา เช่นการบริหารจัดการ  การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์  ระบบสารสนเทศ  ระบบฐานข้อมูลและเครือข่ายการสื่อสารตลอดจนถึงการเรียนการสอนด้วยการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

  1. กำหนดให้มีการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามความเหมาะสมด้านสภาพทางภูมิศาสตร์และความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่น เพื่อสะดวกความคล่องตัวและความประหยัดในการจัดซื้อจัดหา พัฒนาระบบสารสนเทศ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนถึงสื่อการเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์

5.กำหนดการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ตามกรอบแนวทางTH e-GIF เป็นวาระหลักเพื่อการศึกษาของประเทศ  โดยจัดตั้งศูนย์กลางการเชื่อมประสานและบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา  รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อร่วมกันพิจารณาบริบทของการใช้ข้อมูลของแต่ละฝ่าย  ซึ่งจะเอื้อต่อการออกแบบและจัดเก็บข้อมูลร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ  สามารถบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อเปิดให้บริการได้ในลักษณะของศูนย์บริการระดับภูมิภาค  ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล

6.ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างระบบรองรับวิทยฐานะสำหรับผู้สอนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้สามารถนำผลงานการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนหรือระบบงานต่าง ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นตำแหน่งและผลตอบแทนได้

7.พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นๆ เพื่อเอื้อต่อการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศไทย

8.ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสีเขียว (Green  IT)  เพื่อรบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด  โดยอาศัยหลักการลดการใช้พลังงานช่วยลดสภาวะโลกร้อน เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์

9.กำหนดให้การพัฒนาและประยุกต์ใช้โปรแกรมประเภทเปิดเผยรหัส (Open Source)เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการศึกษาของประเทศ

3.3 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

      3.3 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่

           แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

 

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 เป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของชาติฉบับแรกของประเทศ มีสาระสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษาของชาติทั้งในส่วนที่เป็นความมุ่งหมาย  หลักการของการจัดการศึกษาสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา  ระบบการศึกษา  แนวทางการจัดการศึกษา  การบริหารและการจัดการศึกษา  มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  ครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา  ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา  และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2553 : 37-38 ) ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในหมวด 9 มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุ โทรคมนาคมและการสื่อสารในรูปอื่นเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัยการทะนุบำรุงศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น มาตรา 64 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการผลิตและพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้เปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีเป็นธรรม มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อให้มีคามรู้ความสามารถและทักษะในการผลิตรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพมาตรา 66 ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการแสงหาความรู้ ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย มาตรา 68 ให้มีการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจากเงินอุดหนุนของรัฐ  ค่าสัมปทาน และผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน  เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรประชาชนรวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาคนและสังคมหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิตการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและมาตรา 69 รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนส่งเสริมและประสานการวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

          จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 หมวดที่ 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาข้างต้น  เมื่อวิเคราะห์แล้ว พบว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีความคล้ายคลึงกับนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ภาครัฐ ซึ่งสามารถอธิบายเป็นลักษณะแผนภาพที่ 2.2 (ภาสกร เรืองรอง 2545:13)ได้ดังนี้

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด  สรุปได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ได้โดยดำเนินงานตามที่กำหนดเป็นกฎหมายการศึกษาของชาติทั้งนี้  “เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา”  จะเป็นศาสตร์สำคัญแขนงหนึ่งของการปฏิรูปที่จะช่วยปรับปรุง  พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาของชาติให้บังเกิดคุณภาพและประสิทธิภาพได้การปฏิรูปการศึกษา  โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญของการปรับเปลี่ยนต้องส่งผลโดยตรงไปสู่ผู้เรียนเป็นสำคัญ  ในการจัดการศึกษาต้องตระหนักและช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานให้ก้าวสู่เป้าหมายโดยรวมได้ในอนาคตโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

3.2 แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556

     3.2 แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556

 

จากนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ พ.ศ. 2544-2553 ของประเทศไทย (IT 2010) ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีต่อกาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2552:7-15) จึงได้จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552-2556 ขึ้นโดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ดังนี้

วิสัยทัศน    “ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ”

“ สังคมอุดมปัญญา ” ในที่นี้หมายถึงสังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาด โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกรับมีความเฉลียวฉลาด (Smart) และรอบรู้สารสนเทศ (Information literacy) สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล (Smart Governance) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

พันธกิจ

1. พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professionals) และบุคลากรในสาขาอาชีพอื่น ๆ ทุกระดับ ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

2. พัฒนาโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสารความเร็วสูงที่มีการกระจายอย่างทั่วถึง มีบริการที่มีคุณภาพ และราคาเป็นธรรม เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหลักที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ในการเข้าถึงความรู้สร้างภูมิปัญญา และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคเศรษฐกิจของประเทศ

3. พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล โดยมีกลไก ระเบียบ โครงสร้างการบริหารและการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีความเป็นเอกภาพที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบบริหารจัดการประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professionals) ให้มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และบุคลากรในสาขา อาชีพต่างๆ ทุกระดับ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ พัฒนา และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและ รู้เท่าทัน เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

2. เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นความมีเอกภาพ การบูรณาการ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม โดยใช้กลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) อย่างเหมาะสม

3. เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตสู่การเพิ่มคุณค่า (Value Creation) ของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและปัจเจกบุคคล โดยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ ในกิจการของครัวเรือนและชุมชน รวมถึงในการแสวงหา ความรู้สร้างภูมิปัญญา การมีส่วนร่วมในระบบการเมืองการปกครอง และในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองและลดปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการและผู้สูงอายุ

5. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ในประเทศ การวิจัยและพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมไทย และเอกลักษณ์ของคนไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย

1. ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ มีความรอบรู้ สามารถเข้าถึง สร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน มีคุณธรรมและจริยธรรม  (Information Literacy) ก่อเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้การทำงาน การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน

2. ยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสุด 25% (Top Quartile) ของประเทศที่มีการจัดลำดับทั้งหมดใน Networked Readiness Index

3. เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

ยุทศาสตร์การพัฒนา

เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เงื่อนไขเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย แผนแม่บทฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักขึ้น 6 ด้าน โดยภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะมีส่วนร่วมกันดำเนินงานให้เป็นไปตามเนื้อหาสาระของแผนในช่วง พ.ศ. 2552-2556 เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในการสร้างศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเพื่อสามารถแข่งขันในโลกสากลได้ รวมถึงการสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทยโดยทั่วกัน โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตและใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ยุทธศาสตร์ที่ 4: การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 5: ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพี่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6:การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญและควรเร่งดำเนินการในลำดับแรกก่อนได้แก่ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญ 2 ประการ คือเรื่องกำลังคนและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับชาติ (ยุทธศาสตร์ที่1และ 2) นอกจากนี้ อีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ยุทธศาสตร์ที่ 3 ) เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาในสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมและเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังมีระดับการพัฒนาที่ด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ

3.1 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT2020)

     3.1 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT2020)

จากการประเมินการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยตามกรอบของนโยบายและแผนแม่บทที่ได้มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการศึกษาสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในมิติต่างๆ ณ ปัจจุบันและการศึกษาบริบทและแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดในช่วงระยะเวลา  10 ปีจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2563 นำมาสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนา ดังนี้

วิสัยทัศน์

“ ICT เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาคนไทยสู่ความรู้และปัญญา เศรษฐกิจของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สังคมไทยสู่ความเสมอภาค ”

สรุปได้ว่า ประเทศไทยในปี พ.ศ.2563 จะมีการพัฒนาอย่างฉลาด การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้และปัญญา โดยให้โอกาสแก่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างเสมอภาคนำไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน (Smart Thailand 2020)

เป้าหมายหลัก

1.มีโครงสร้างพื้นฐาน ICTความเร็วสูง (Broadband) ที่กระจายอย่างทั่วถึง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เสมือนการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วไป

2.มีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจฐานบริการและฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือ ประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึง  สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศได้อย่างรู้เท่าทัน เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงาน  และการดำรงชีวิตประจำวันและบุคลากร ICT มีความรู้ ความสามารถและทักษะในระดับสากล

3.เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรม ICT ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

4.ยกระดับความพร้อมด้าน ICT โดยรวมของประเทศไทย

5.เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6.ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ ICT ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือการสื่อสารรูปแบบอื่นที่เป็น  Broadband ให้มีความทันสมัย มีการกระจายอย่างทั่วถึงและมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ได้

2.พัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการพัฒนาและใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน รวมถึงพัฒนาบุคลากร ICT ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล

3.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICTเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ โดยใช้โอกาสจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ  การเปิดการค้าเสรีและประชาคมอาเซียน

4.ใช้ ICTเพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการของภาครัฐที่สามารถให้บริการประชาชนและธุรกิจทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยมีธรรมาภิบาล

5.พัฒนาและประยุกต์ ICTเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิต ให้สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ภาคบริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนภาคบริการในโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม

6.พัฒนาและประยุกต์ ICTเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างความเสมอภาคของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม  โดยเฉพาะบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ได้แก่ บริการด้านการศึกษาและบริการสาธารณสุข

7.พัฒนาและประยุกต์ ICT เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พื้นที่สำหรับแบ่งปัน แสดงและนำเสนอสิ่งดีที่อยากจะให้กันและกันเสมอและตลอดไป ไม่ว่าวันและเวลาจะแปรเปลี่ยนก็ตาม